career


เทคนิค Storytelling เล่าเรื่องยังไงให้ปัง


หากคุณได้รับโอกาสให้ขึ้นไปพูดบนเวทีที่มีคนดูนับร้อยนับพัน ซึ่งนั่นอาจเป็นโอกาสให้คุณแจ้งเกิดและมีคนได้รู้จักคุณมากขึ้น คุณจะกล้ารับข้อเสนอนั้นไหม? คนส่วนใหญ่อาจจะหวาดเกรง เพราะกลัวจะไปทำอะไรเปิ่น ๆ เงอะงะบนเวที แต่บางคนอาจจะรู้สึกว่าใช่!

นี่แหละโอกาสทองที่จะได้เดบิวต์ตัวเองให้สาธารณชนได้รู้จัก และคุณอาจกลายเป็นเหมือนหนึ่งในบรรดา TED Talk Speakers ที่ก้าวข้ามผ่านความกลัว โชว์ศักยภาพและความคิดออกมาได้อย่างเต็มที่

ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นให้คนฟังประทับใจกับการ Presentation บนเวทีของคุณ ลองมาเรียนรู้เทคนิคเจ๋ง ๆ ที่จะทำให้คนฟังไม่ละสายตาไปจากการเล่าเรื่องของคุณกันดีกว่า...

1. ทำให้คนฟังเป็นหนึ่งเดียวกับเรื่องราวของคุณ
แม้จะอยู่คนละที่ พูดคนละภาษา ใช้ชีวิตกันมาในคนละวัฒนธรรม แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนเข้าใจตรงกันได้คือ ภาพ การเลือกใช้คำพูด และภาพหรือกราฟฟิคประกอบในการเล่าเรื่องก็เป็นส่วนสำคัญที่จะสามารถถักทอให้คนดูเห็นภาพเดียวกัน และคล้อยตามไปกับผู้เล่าเรื่องได้ ซึ่งนั่นจะทำให้คนดูรู้สึกมีส่วนร่วมกับคุณมากขึ้น

2. เล่าเรื่องส่วนตัว
ปฏิเสธไม่ได้ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ชอบสอดรู้สอดเห็นในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของคนอื่น ถ้าเรื่องราวที่คุณนำเสนอมีส่วนเกี่ยวข้องหรือตรงกับประสบการณ์ของคุณด้วย คุณอาจลองแชร์สิ่งที่คุณได้ประสบพบเจอมาเองนั้นให้ฟังด้วย เพราะคนเรามักชอบเรื่องราวของการต่อสู้เอาชนะอุปสรรคขวากหนามต่าง ๆ แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น การเล่าว่าคุณผ่านเรื่องราวและช่วงเวลาแสนยากลำบากนั้นมาได้ยังไง เป็นสิ่งที่หลายคนจะตั้งหน้าตั้งตารอฟังอย่างใจจดใจจ่อ แถมยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาได้อีกด้วย

3. สร้างปมชวนสงสัย
เคยไหมเวลาอ่านหนังสือหรือดูหนังสนุก ๆ สักเรื่อง แล้วรู้สึกตื่นเต้นหรือลุ้นระทึกตามจนจะลงแดงเมื่อต้องรอตอนต่อไป นั่นเป็นเพราะเราสงสัยว่าตัวละครในเรื่องนั้นจะฝ่าฟันปัญหาที่เจออยู่ไปได้ยังไง การสร้างปมปัญหาความขัดแย้งให้ตัวเอกของเรื่องจึงเป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้ ยิ่งมีเงื่อนงำก็ยิ่งน่าลุ้น และทำให้ผู้ชมคิดตามต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป การเล่าเรื่องที่ดีจึงต้องเรียงลำดับเนื้อหาที่จะเล่าอย่างประณีต แสดงให้เห็นถึงปมปัญหาหลัก แล้วจบด้วยบทสรุปที่คลี่คลายปมนั้นออกมาทีละน้อย หรือเปิดเผยให้เห็นวิธีการเอาชนะอุปสรรคนั้นให้กระจ่างแจ้งในตอนจบ

4. สร้างคาแรคเตอร์ให้มีชีวิตชีวา
ถ้าคุณกำลังเล่าเรื่องของใครสักคนหรือตัวละครสมมติที่คุณอุปโลกน์ขึ้นมา การจะทำให้เรื่องที่คุณเล่าประสบความสำเร็จ และตรึงคนฟังได้อยู่หมัด คือต้องสร้างคาแรคเตอร์ของตัวละครให้เป็น 3 มิติ ซึ่งหมายความว่าคุณต้องลงรายละเอียดให้คนฟังเห็นภาพของตัวละครที่คุณเล่าอยู่ได้ชัดเจน ทั้งลักษณะทางกายภาพ นิสัยใจคอ ความสนใจ อาจเป็นตัวละครหรือบุคคลที่ดูเผิน ๆ เหมือนจะพบเจอได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ในขณะเดียวกันก็ต้องมีลักษณะบางอย่างที่ไม่ธรรมดาด้วยเช่นกัน

5. โชว์ให้เห็น ดีกว่าพูดอย่างเดียว
ถ้าคุณยืนอยู่บนโพเดียมที่มีสายตาพันคู่จับจ้องมาที่คุณ การเล่าเรื่องบรรยายไปเรื่อย ๆ อย่างเดียวอาจไม่พอ เพราะในเมื่อแสงสปอตไลท์สาดส่องมาที่คุณแล้ว ก็ต้องเล่นใหญ่กันหน่อย หากเนื้อหาที่คุณนำมาเสนอมีส่วนไหนที่คิดว่าอยากเน้นย้ำเป็นพิเศษ คุณอาจลองนำเนื้อหาส่วนนั้นมาสร้างเป็นฉากบทสนทนาสั้น ๆ เหมือนนำคนดูเข้าไปสู่ซีนเดียวกับคุณ ยิ่งมีอุปกรณ์ที่สามารถนำมาประกอบการแสดงได้ด้วยยิ่งดี เพราะนั่นจะยิ่งทำให้คนดูรู้สึก “ว้าว” กว่าเดิมแน่นอน

6. ทิ้งท้ายด้วยช่วงเวลาที่น่าจดจำ
เช่นเดียวกับการสร้างปมปัญหาที่ทำให้คนอยากติดตาม การจะทำให้การเล่าเรื่องของคุณบนเวทีใหญ่เป็นที่กล่าวขาน และน่าจดจำไปอีกนานสำหรับคนดูคือการสร้างช่วงเวลาที่เรียกว่า S.T.A.R ซึ่งหมายถึง “Something They’ll Always Remember” หรือการสร้างโมเมนต์บางอย่างที่จะทำให้เหล่าผู้ชมผู้ฟังจดจำการนำเสนอเรื่องราวของคุณในวันนี้ไว้ได้เสมอ ซึ่งอาจมาในรูปแบบของสถิติสุดช็อก เรื่องจริงสุดดราม่า หรือภาพระทึกใจจนยากที่จะเชื่อสายตาตัวเอง เป็นต้น

7. จบด้วยข้อคิดที่นำกลับไปใช้ได้
สุดท้ายก่อนที่จะต้องกล่าวอำลาเวทีการนำเสนอไปจริง ๆ นอกจากการพูดถึงปมปัญหา อุปสรรคกีดขวาง และมารผจญของเรื่องราวที่คุณได้นำเสนอไปแล้ว สิ่งสำคัญที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยนั่นก็คือ วิธีแก้ปัญหาที่ได้มาจากเรื่องนั้น อะไรคือสาระสำคัญหรือข้อความที่คุณต้องการจะสื่อไปยังผู้ชม หลังจากการรับฟังเรื่องราวของคุณในวันนี้ พวกเขาได้ข้อคิด คติเตือนใจ หรือคำแนะนำอะไรดี ๆ กลับไปบ้าง

เพราะสุดท้ายความหวังสูงสุดของนักเล่าเรื่องทุกคน คือหวังว่าเรื่องที่ได้เล่าไปนั้นจะไปจุดประกายในเชิงบวกให้ผู้ฟังได้สติ คิดได้ และเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในชีวิตไปในทางที่ดีขึ้น 

_________________________

อ้างอิงจาก https://visme.co/blog/7-storytelling-techniques-used-by-the-most-inspiring-ted-presenters