career


It’s all about “Mindset”


เป็นเรื่องธรรมดาที่คนเราจะอยากประสบความสำเร็จ อยากไปให้ถึงจุดที่เราตั้งเป้าหมายเอาไว้ ได้เป็นในสิ่งที่ฝัน ได้มีในสิ่งที่ต้องการ ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ แต่ทั้งหมดนี้จะเป็นจริงได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณคิดจะทำยังไงกับความฝันและเป้าหมายเหล่านี้ คุณจะเอาแต่คิดจินตนาการอย่างเดียว โดยไม่ลงมือทำอะไรสักอย่าง

หรือจะเริ่มวางแผนและทำตามขั้นตอนไปทีละสเต็ปเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าใกล้ความฝันนั้นให้ได้มากขึ้นอีกนิด ซึ่งความจริงแล้วเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับ Mindset ที่จะเป็นตัวกำหนดว่าเราจะปังหรือจะพังกันแน่!

การมี Mindset ที่ถูกต้องจะทำให้เราก้าวเดินไปในเส้นทางที่ถูกต้อง ไม่หลงทางไขว้เขวหรือเอนเอียงง่าย ๆ ยิ่งถ้ามีเป้าหมายใหญ่แน่ชัด แม้รู้ว่าจะต้องเหนื่อยยากเพียงไหน เชื่อเถอะว่าคุณก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า “เหตุผล” ดี ๆ ให้ทำมันเช่นกัน เช่น ตอนเด็ก ๆ หลายคนคงต้องเจอกับบททดสอบใหญ่ครั้งหนึ่งในชีวิตอย่างการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ที่เมื่อรู้ตัวแล้วว่าอยากเข้าไปเรียนคณะอะไร มหา’ลัยไหน ใช้คะแนนเท่าไหร่ ก็ต้องเตรียมตัวอ่านหนังสือ ฝึกทำข้อสอบ รวบรวมผลงานทำ portfolio เป็นต้น ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้เวลายาวนาน กินเวลาหลายเดือนหรือบางคนเตรียมตัวเป็นปี ๆ เพื่อรอวันเข้าไปทำข้อสอบให้มีคะแนนสูงพอดังที่หวังไว้

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าระหว่างเดินทางไปสู่เป้าหมายใหญ่ที่ตั้งใจไว้ เราก็มักจะเจอฝาแฝดของเหตุผลที่เรียกว่า “ข้ออ้าง” เข้ามาทักทายด้วยเช่นกัน เช่น ตอนที่กำลังอ่านหนังสือหรือฝึกทำโจทย์ยาก ๆ ที่คิดไม่ออกแก้ไม่ตกอยู่นั้น จู่ ๆ เราก็อาจมีความคิดที่ว่า ขอพักสักแปปไปดูยูทูปสักคลิปก่อนแล้วค่อยกลับมาอ่านต่อดีกว่า แต่ในความเป็นจริงนั้น เราก็มักจะเผลอลืมตัวและกดคลิปอื่นดูต่อไปเรื่อย ๆ แบบ non-stop จนมารู้ตัวอีกทีก็กินเวลาไปหลายชั่วโมง และคุณก็อาจจะปลอบใจตัวเองด้วยเหตุผล (หรือข้ออ้าง) ว่า วันนี้คงอ่านหนังสือต่อไม่ไหวแล้ว เพราะถึงเวลาเข้านอนแล้วนี่นา...

เพราะสมองของเราฉลาดกว่าที่คิด มันจึงคอยสร้างเหตุผลหรือข้ออ้างขึ้นมาแล้วแต่สถานการณ์นั้น ๆ เพื่อให้เราได้ทำในสิ่งที่ต้องการ และประหยัดพลังงานทางความคิดมากที่สุด เช่น สมมติให้เลือกระหว่าง การนั่งอ่านหนังสือเตรียมสอบอยู่บ้าน กับการไปต่อคิวทานอาหารร้านอร่อยเจ้าดังที่พึ่งมาเปิดใหม่ แบบไหนจูงใจให้เราอยากทำมากกว่ากัน? เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงเลือกอย่างหลังเป็นแน่ พร้อมด้วยเหตุผลสนับสนุนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการบอกกับตัวเองว่า วัตถุดิบร้านนี้พรีเมี่ยมนำเข้าจากต่างประเทศเชียวนะ! ร้านดังคนต่อคิวจองล่วงหน้าเยอะมากถ้าเราพลาดไปคงเสียดายสุด ๆ เป็นต้น

ในกรณีนี้ “เหตุผล” ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ได้ทำในสิ่งที่ต้องการนั้น หากฟังดูเผิน ๆ ก็อาจดูสมเหตุสมผลดี แต่จริง ๆ แล้วมันอาจเป็นการลดทอนความรู้สึกผิดต่ออะไรบางอย่างที่เราควรทำ แต่ไม่ได้ทำต่างหาก! เหมือนตัวอย่างข้างต้นที่หลายคนเลือกออกไปต่อคิวเข้าแถวยาวเหยียดหลายชั่วโมงเพื่อให้ได้กินร้านอาหารเจ้าดัง แทนที่จะนั่งอ่านหนังสืออยู่บ้าน ทั้ง ๆ ที่ยังอ่านไม่จบและมีสอบพรุ่งนี้! ดังนั้นสิ่งนี้จึงไม่ควรถูกเรียกว่าเหตุผล แต่มันคือ “ข้ออ้าง” ต่างหาก

มาถึงตรงนี้หลายคนคงจะพอเห็นภาพความต่างระหว่าง “เหตุผล” กับ “ข้ออ้าง” มากขึ้น และรู้เท่าทันกลไกสมองของเราได้ดีขึ้น เมื่อต้องเลือกระหว่างงานยาก ต้องคิดเยอะ ใช้เวลานาน กับงานง่าย แถมสนุกเพลิดเพลินเจริญใจ สมองของเราก็มักจะเลือกงานที่ง่ายกว่าเพื่อประหยัดพลังงานสมองให้ใช้น้อยที่สุดก่อน แล้วสร้างสิ่งที่คล้าย ๆ กับเหตุผลขึ้นมาเพื่อลดความกดดัน ความกังวล และความรู้สึกผิดลง ซึ่งเราเรียกมันว่า “ข้ออ้าง” ที่หากมีมากเข้า ก็คงยากที่จะไปให้ถึงจุดหมายหรือประสบความสำเร็จอย่างที่หวังไว้

สุดท้ายสิ่งที่จะทำให้คุณมองเห็นความแตกต่างระหว่างเหตุผลและข้ออ้างได้ดีก็คือ ความสำคัญของเป้าหมาย เพราะถ้าสิ่งนั้นสำคัญพอ คุณจะมี “เหตุผล” ให้ทำมันเสมอ แต่ถ้าไม่คุณก็จะมี “ข้ออ้าง” ให้มันตลอดเช่นกัน