career


EP.1 Office Syndrome ปวดกายสะเทือนถึงใจ


เคยไหมนั่งทำงานนานจนรู้สึกปวดเมื่อยตึงไปหมด ไม่สบายตัวเลยสักนิด ไม่ว่าจะเป็นคอ บ่า ไหล่ หลังส่วนล่าง หรือบางคนอาจมีอาการชาตรงข้อมือ และแขนด้วย ถ้าคุณมีอาการเหล่านี้ล่ะก็อาจเป็นสัญญานเตือน

ได้ว่าคุณกำลังเข้าสู่วงการ “ออฟฟิศซินโดรม” เข้าแล้วล่ะ วงการนี้เข้าแล้วออกยากด้วยนะ! แต่ก็ใช่ว่าจะออกไม่ได้ซะทีเดียว ถ้ารู้จักปรับตัวแก้ไขพฤติกรรมที่เคยชินจนเป็นนิสัยผิด ๆ ที่ส่งผลต่ออาการปวดเมื่อยเรื้อรังแบบออฟฟิศซินโดรม ว่าแต่โรค “Office Syndrome” ที่ว่าจริง ๆ แล้วคืออะไร สาเหตุต้นตอของความเจ็บปวดมาจากไหน แล้วเราจะรักษามันได้ยังไง มาลองดูไปพร้อมกันเลย

อาการของโรคออฟฟิศซินโดรม

Office Syndrome คืออาการปวดกล้ามเนื้อที่เกิดจากการใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำ ๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจมีอาการปวดเฉพาะบริเวณส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น ต้นคอ บ่า ไหล่ สะบัก หลัง แถมยังรู้สึกปวดเป็นบริเวณกว้าง ระบุตำแหน่งชัดเจนไม่ได้ ปวดล้า ๆ เริ่มจากมีอาการเล็กน้อยทำให้รู้สึกหงุดหงิดรำคาญ แต่ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้นานโดยไม่ได้รับการแก้ไขหรือรักษาให้ถูกต้องก็จะทำให้กลายเป็นกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง ปวดร้าวขั้นรุนแรงจนกระดูกทับเส้นประสาท หรือหมอนรองกระดูกเคลื่อนตามมาได้

สาเหตุของโรคเกิดจากอะไร

1. พฤติกรรมการนั่งทำงานที่ผิดวิธี

เช่น นั่งหลังค่อม นั่งไขว้ห้าง และนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมเป็นเวลานานติดต่อกัน โดยไม่มีการหยุดพักเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ หรือยืดเส้นยืดสายเลย

2. สภาพแวดล้อมและอุปกรณ์ในการทำงานไม่เหมาะสม

เช่นโต๊ะหรือเก้าอี้ที่ใช้ทำงานสูงหรือต่ำจนเกินไป ไม่เหมาะกับโครงสร้างของร่างกาย การวางคอมพิวเตอร์ไม่อยู่ในระดับสายตา เป็นต้น

3. ความเครียดจากการทำงาน

ซึ่งอาจเกิดจากการโหมงานหนักมากเกินไปจนไม่มีเวลาพักผ่อน หรือสังคมในที่ทำงานเป็นพิษทำให้เกิดอาการวิตกกังวล เครียดจนส่งผลเสียต่อร่างกาย

4. อาหารที่ทานไม่เพียงพอ

จากการทานอาหารไม่ตรงเวลา ทำให้ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน

5. ขาดการออกกำลังกาย

ทำให้ร่างกายขาดความสมดุลยืดหยุ่น กล้ามเนื้อไม่แข็งแรงและอ่อนแรง

แนวทางป้องกันและรักษาโรคออฟฟิศซินโดรม

เริ่มจากป้องกันไม่ให้เป็น โดยแก้ที่ต้นเหตุจากการปรับสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมในการทำงานให้ถูกต้องตามหลัก Ergonomics หรือการยศาสตร์ คือการทำงานให้สอดคล้องกับสรีระร่างกายของมนุษย์ลองมาเช็คกันดูสิว่าคุณนั่งทำงานถูกท่าและจัด Work Station ถูกหลักที่ควรจะเป็นแล้วรึยัง

  • สายตา

อยู่ในระดับเดียวกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ ควรจัดจอคอมให้ต่ำกว่าระดับสายตา 15 องศา ทำให้ไม่รู้สึกว่าต้องก้มหรือเงยหน้าเพื่อมองจอ และควรพักสายตาทุก ๆ 20 นาที

  • แขนและข้อมือ

วางข้อมือระนาบเดียวกับแป้นคีย์บอร์ด ต้นแขนชิดลำตัว วางแขนให้ข้อศอกทำมุม 90 องศากับไหล่

  • หลัง

นั่งหลังตรงให้หลังแนบกับพนักพิงเก้าอี้ นั่งให้เต็มก้น ไม่เอนตัวไปด้านหน้าหรืองอหลัง

  • ขาและเท้า

ต้นขาให้วางแนบกับที่นั่ง ปล่อยขาลงให้เท้าทั้งสองข้างแนบพื้นได้เต็มฝ่าเท้า

แต่ถ้าเกิดทิ้งไว้นาน จนอาการปวดเข้าขั้นเรื้อรังแล้วล่ะก็คงต้องมารักษากันที่ปลายเหตุ ซึ่งมีแนวทางรักษาหลากหลายวิธีด้วยกัน หากเป็นน้อย ๆ อาการยังไม่รุนแรง คุณอาจลองฝึกโยคะเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ปรับสมดุล สร้างความยืดหยุ่นให้ร่างกาย หรือเล่นพิลาทิส (Pilates) เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง

แต่ถ้าหากอาการหนักเข้าขั้นร้าวลึกจนส่งผลต่อการทำงานในระยะยาว คงต้องเข้ารับการทำกายภาพบำบัด ฝังเข็ม นวดแผนไทย ครอบแก้ว ประคบอุ่น รับประทานยาแก้ปวด ฉีดยาบรรเทาปวด หรือหากรุนแรงมากอาจต้องเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งวิธีการรักษาจะเป็นแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคนและการวินิจฉัยของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูด้วย

เห็นไหมว่าออฟฟิศซินโดรมเป็นโรคที่ใกล้ตัวคนทำงานมาก ๆ เลย และมีโอกาสเป็นได้ทุกคนหากนั่งทำงานไม่ถูกวิธี ถ้ารู้ตัวก่อนก็แก้ได้ไม่ยากโดยการปรับพฤติกรรมการทำงานให้เหมาะสมเอง