career


EP.1 First jobber ก้าวแรกสู่โลกความเป็นจริง


เมื่อพูดถึงงานแรก บัณฑิตจบใหม่บางคนจบมาก็ได้งานทำเลย บางคนหาอยู่นานกว่าจะเจองานที่คิดว่าใช่ ส่วนอีกหลายคนหาแล้วหาอีกก็ไม่เจอสักที แม้ตอนเรียนเราจะเรียนวิชาเหมือนกัน มีคนสอนคนเดียวกัน แต่เมื่อเรียนจบออกมาแล้วมันเป็นคนละโลกเลยนะ

เพราะต่อไปนี้แบบแผนการใช้ชีวิตของเราจะแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง เราจะได้อิสระมากขึ้น มีเวลาวางแผนใช้เวลาทำเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น หรือแม้กระทั่งจะใช้เงินที่หามาได้เองอย่างไรก็ไม่มีใครว่า เรียกได้ว่านี่คือช่วงเวลาลิ้มรสอิสรภาพแรกในชีวิตอย่างแท้จริง

แล้วเด็กจบใหม่ที่เรียกกันว่า “First Jobber” มีเรื่องอะไรให้ต้องกังวลอีกล่ะ ในเมื่อต่อไปนี้พวกเขาเหล่านั้นได้เป็นเจ้าของเวลาและเงินอย่างเต็มที่ หลายคนอาจหลงระเริงกับอิสรภาพและความแปลกใหม่ในชีวิตที่เพิ่งได้รับมา แต่อันที่จริงแล้วรูปแบบการใช้ชีวิตในอีก 5 ปีหรือ 10 ปีต่อจากนี้จะเป็นยังไงก็ขึ้นอยู่กับตอนเริ่มต้นนี้นี่แหละ

รู้แบบนี้แล้วชาว #FirstJobber ทั้งหลายก็ไม่ควรประมาทและใช้ชีวิตตามอำเภอใจตัวเองมากเกินไปจนต้องมานั่งเสียใจภายหลังพร้อมรำพึงรำพันประโยคสุดคลาสสิคอย่าง “รู้งี้ไม่น่า...เลย” มาดูกันดีกว่าว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่เราควรคำนึงถึงตั้งแต่วัยเริ่มทำงาน

1. ค้นหาตัวตนให้เจอ

เรื่องนี้จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยากเพราะบางคนรู้มาตั้งแต่เกิดแล้วว่าชอบทำอะไร เก่งเรื่องไหน มีพรสวรรค์ที่ให้มากับตัวอยู่แล้ว ในขณะที่บางคนก็รู้สึกว่าโตขนาดนี้แล้ว ยังไม่รู้เลยว่าชอบอะไร ให้เรียนอะไรก็เรียนได้แต่ไม่ได้ดีเด่นอะไรสักอย่าง ถ้าคุณเป็นแบบหลังล่ะก็อย่าเพิ่งน้อยใจไป เพราะบางคนกว่าจะเจอตัวเองก็อายุมากแล้ว ดูอย่างผู้พันแซนเดอร์สเจ้าของสูตรไก่ทอดยอดฮิตทั่วโลกอย่าง KFC ที่กว่าจะค้นพบวิธีทอดไก่ให้อร่อยจนเป็นเศรษฐีพันล้านได้ก็ตอนอายุ 65 ปีเข้าไปแล้ว

คำแนะนำของเราก็คือ ให้ลองคิดว่าตัวเองมีเป้าหมายและ passion อะไรในชีวิต แล้วให้เริ่มลงมือทำสิ่งที่ตัวเองถนัดเพื่อเข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้นทีละนิด อย่าลืมล่ะว่าชีวิตคือการเดินทาง ในระหว่างที่คุณออกค้นหาตัวเองมันก็เป็นการสร้างตัวตนของเราขึ้นมาทีละเล็กละน้อยแล้ว

2. มุ่งมั่นกับงานให้เต็มที่

แน่นอนว่าในช่วงแรกมันอาจจะสับสนงุนงงหน่อย ๆ กับบทบาทสถานะทางสังคมที่เปลี่ยนไป จากพี่ปี 4 ที่ senior สุดในรั้วมหาวิทยาลัย ก็ต้องกลับมาเป็นน้องเล็กสุดในบริษัทอีกครั้ง แถมใครใช้ให้ทำอะไรก็ปฏิเสธไม่ค่อยได้เพราะเรามันเด็กสุดนี่นา แต่จะว่าไปช่วงนี้ก็มีข้อดีอยู่เหมือนกันตรงที่ยังสามารถทำผิดพลาดได้โดยที่คนอื่นเข้าใจและให้อภัยได้ เพราะถือการ์ดน้องใหม่อยู่นั่นเอง!

ดังนั้นคำแนะนำของเราก็คือ ให้ลองเรียนรู้งานทุกอย่างให้มากที่สุด กล้าถามในสิ่งที่สงสัยไม่แน่ใจกับรุ่นพี่ในทีม หมั่นขวนขวายเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ ๆ อยู่เสมอเพื่อปรับตัวให้เข้ากับงานให้เร็วที่สุด เพราะบางเรื่องมันก็ไม่มีสอนในห้องเรียนนี่จริงไหม ถ้าอยากตามให้ทันโลกทันสมัย รู้เท่าทันคนอื่นก็ต้องแสดงความกระตือรือร้นเอาชนะใจรุ่นพี่ในทีมกันหน่อย

3. เรื่องเงินเก็บก่อน รวยกว่า

เรื่องนี้คงต้องระวังให้ดีสำหรับมือใหม่ที่มีรายได้ประจำ เพราะเป็นครั้งแรกที่หาเงินได้เองแบบไม่ต้องพึ่งพ่อแม่ หลายคนเลยเอาไปใช้เพลินแบบอยากได้อะไรต้องได้ จะกินเที่ยวยังไงก็เงินของเรา มีสิทธิ์ใช้ได้เต็มที่ไม่ต้องเกรงใจใคร แต่หารู้ไม่ว่านี่แหละคือหลุมพรางที่ทำให้เราไม่มีเงินเก็บออม กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็วัยใกล้ 30 ปีที่ต้องเร่งสร้างเนื้อสร้างตัวสร้างครอบครัวกันแล้ว และเมื่อถึงตอนนั้นหลายคนก็มานั่งนึกเสียใจภายหลังว่า ไม่น่าใช้เงินมือเติบจนไม่เหลือเก็บเลย

ดังนั้นคำแนะนำของเราในเรื่องนี้ก็คือ ให้เก็บเงินอย่างน้อย 10% ของเงินเดือนทุกเดือนก่อนนำไปใช้จ่าย หรือถ้าได้ 20% ก็ยิ่งดี และถ้าบริษัทไหนมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ควรสมัครไว้เป็นเงินออมไปยาว ๆ ไว้ใช้ตอนออกจากงานแล้ว ถ้าจะให้ดีก็ควรลองศึกษาเรื่องกองทุนต่าง ๆ ไว้ลงทุนให้เงินทำงานแทนเป็น passive income อีกทางหนึ่ง เพราะยิ่งเริ่มเมื่ออายุน้อย ๆ ก็ยังรับความเสี่ยงได้มากกว่า ทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่าด้วย

เห็นไหมว่า งาน เงิน และตัวตนของเราเป็นสิ่งที่น้อง ๆ #FirstJobber ควรให้ความสำคัญตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มของการทำงาน เพราะถ้าละเลยอย่างใดอย่างหนึ่งไปแล้ว เมื่อโตขึ้นกว่านี้อาจมานั่งเสียดายหรือเสียใจภายหลังแล้วบ่นว่า “รู้งี้ไม่น่าทำแบบนั้นเลย” ก็ได้นะ