career


Work from anywhere ทำงานที่ไหนก็ได้


ถ้าเป็นช่วงก่อนหน้าโควิด แนวคิดการให้พนักงานทำงานจากบ้านคงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ยิ่งให้ทำงานจากที่ไหนก็ได้ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะมีข้อสงสัยเต็มไปหมดว่าแล้วมันจะเวิร์คจริงหรือ? จะรู้ได้อย่างไรว่าพนักงานยังทำงานอยู่จริง ๆ ไม่ได้แอบอู้

ไปทำอย่างอื่น? แล้วการติดต่อสื่อสารกันระหว่างทีมงานจะสะดุดรึเปล่าถ้าไม่ได้มาเจอหน้ากัน? จะวัดผลการทำงานแต่ละคนยังไงให้สมเหตุสมผล? สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นคำถามเคลือบแคลงใจที่มีต่อประสิทธิภาพการทำงานนอกออฟฟิศ (Remote Working) ทั้งสิ้น

แต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ แบบไม่มีอะไรมากั้น! ทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องออกนโยบายให้พนักงานสามารถ Work from home ได้ เพราะจำเป็นต่อความปลอดภัยในชีวิตของพนักงาน และนั่นก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในวิถีการทำงานของหลายองค์กรในประเทศไทยที่ทำให้ต้องปรับตัวไปสู่โลกยุค New Normal ที่อะไร ๆ ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

แม้ในประเทศไทยเพิ่งจะมีการนำเอารูปแบบการทำงานแบบนอกออฟฟิศมาใช้ได้ไม่นานนักหลังโควิด-19 แต่สำหรับประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา เทรนด์การทำงานแบบ Remote Working อาจไม่ใช่เรื่องใหม่นัก เพราะจากผลสำรวจของ Gallup poll เมื่อปี 2017 ได้ชี้ให้เห็นว่า พนักงานชาวอเมริกันกว่า 43% ได้ทำงานแบบทางไกลมาระยะหนึ่งแล้ว และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

บริษัทผู้นำทางด้านเทคโนโลยีหลายแห่งใน Silicon Valley เช่น Google, Facebook, Microsoft และ Apple ล้วนมีนโยบายให้พนักงานสามารถทำงานจากบ้านได้อยู่แล้ว ยิ่งพอเกิดการระบาดของโควิด-19 ขึ้น ก็ทำให้เป็นบริษัทกลุ่มแรก ๆ ในสหรัฐที่ตัดสินใจส่งพนักงานกลับไปทำงานที่บ้านได้แบบไม่มีกำหนดกลับจนถึงสิ้นปีนี้ ในขณะที่บริษัทอย่าง Twitter ถึงขนาดอนุญาตให้พนักงานทำงานจากบ้านได้ตลอดไปถ้าพวกเขาต้องการ!

แม้การทำงานจากบ้านจะมีข้อดีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นลดเวลาและประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงาน ทำให้ได้อยู่กับครอบครัวและมีเวลาทำเรื่องต่าง ๆ ที่บ้านได้มากขึ้น แต่เชื่อได้เลยว่ายังไงก็ย่อมมีคำถามใหญ่อยู่ในใจใครหลายคนว่า “แล้วถ้าฉันชอบทำงานที่ออฟฟิศมากกว่าล่ะ ฉันคิดถึงบรรยากาศที่ได้พบปะ พูดคุยกับเพื่อนร่วมงานมากกว่านี่นา แล้วจะทำยังไงถ้าต้องทำงานจากบ้าน” ซึ่งนั่นก็เป็นข้อจำกัดของการ Work from home ที่ปฏิเสธไม่ได้ จึงทำให้เกิดการต่อยอดไปสู่แนวคิดที่เรียกว่า “Work from anywhere” ที่จะมาตอบโจทย์ในเรื่องของความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิตอย่างแท้จริง

เมื่อพูดถึงการทำงานจากบ้าน ย่อมหมายถึงการใช้บ้านเป็นสถานที่นั่งทำงานแทนออฟฟิศเดิมที่คุณเดินทางไปเป็นประจำ แต่ถ้าพูดถึงการทำงานจากที่ไหนก็ได้ นั่นหมายความว่า “Anywhere” จริง ๆ ออฟฟิศของคุณอาจเปลี่ยนไปไม่ซ้ำที่กันในแต่ละวันก็เป็นได้ คุณอาจนั่งทำงานจากบ้านในวันจันทร์ วันต่อมานั่งอยู่ที่ร้านกาแฟ วันถัดไปก็เข้าออฟฟิศไปเจอเพื่อนร่วมงาน หรือแม้กระทั่งนั่งทำงานริมชายหาด พร้อมฟังเสียงคลื่นประกอบก็ยังได้ ความยืดหยุ่น และอิสรภาพจึงเป็นข้อได้เปรียบที่เหนือกว่าของคอนเซปต์การทำงานแบบ “Work from anywhere” ที่จะทำให้พนักงานสามารถปรับตาราง และสถานที่ทำงานให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของตัวเองได้มากขึ้น

Wade Foster, CEO ของ Zapier เทคสตาร์ทอัพในสหรัฐฯ ถือเป็นบริษัทที่ใช้รูปแบบการทำงานแบบทางไกลตั้งแต่ปี 2012 โดยมีพนักงาน 300 คนทำงานอยู่ในสหรัฐฯ และอีก 28 ประเทศ ซึ่งคุณ Wade เองได้กล่าวถึง 3 องค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้การทำงาน “Work from anywhere” ประสบความสำเร็จได้คือ ทีมงาน เครื่องมือ และกระบวนการถ้าจะให้อธิบายโดยละเอียดก็คือ...

1. Team

คนในทีมควรรู้สึกสบายใจที่จะทำงานแบบที่ไหนก็ได้ ภายในทีมต้องเชื่อใจกันและกัน รวมถึงต้องเป็นคนที่มีทักษะการสื่อสารดี

2. Tools

ในการทำงานที่ไม่ได้อยู่ที่เดียวกัน จำเป็นต้องมีเครื่องมือหรือซอฟท์แวร์บริหารจัดการงานที่ดี เพื่อทำให้แน่ใจว่าทุกคนในทีมกำลังทำงานเรื่องเดียวกันอยู่ อัพเดทงานได้เข้าใจตรงกัน แม้จะไม่ได้นั่งอยู่ข้างกันตัวเป็น ๆ

3. Process

กระบวนการทำงานที่ดีจะทำให้ทุกอย่างออกมาเสร็จสมบูรณ์ได้อย่างไร้ที่ติ ดังนั้นในระหว่างทำงานจึงต้องมีการให้ feedback และเช็คความก้าวหน้าของงานที่ทำทั้งในภาพรวม และติดตามผลรายคนอยู่เสมอ

ในประเทศไทยเองก็มีบริษัทหลายแห่งที่เริ่มหันมาให้พนักงานทำงานแบบ “Work from home/anywhere” มากขึ้นเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงหลังการเข้ามาของโควิด-19 ซึ่งทำให้พบว่าหลายเรื่องที่กังวลกันมาก่อนหน้านี้ ทั้งเรื่องประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานที่อาจลดลงหรือการสื่อสารกันภายในทีมที่อาจติดขัดยากลำบากกลับส่งผลออกมาในทางตรงกันข้าม เพราะผลการสำรวจจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) พบว่าคนรุ่นใหม่ในองค์กรกว่า 44% มองว่า “Work from home” ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น และอีก 50% บอกว่าอยากให้คงมีนโยบายการทำงานจากบ้านต่อไป แม้ว่าจะไม่มีโรคระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้วก็ตาม

SCB ถือเป็นหนึ่งในองค์กรที่ได้นำเอาคอนเซปต์การทำงาน “Work from anywhere” มาใช้เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรและวิถีการทำงานรูปแบบใหม่ ที่มีความคล่องตัว รวดเร็ว ทำงานจากที่ไหนก็ได้ ทำให้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ออฟฟิศบางส่วนของสำนักงานใหญ่ให้เป็นพื้นที่ทำงานร่วมกันของพนักงานทุกฝ่ายทุกแผนก จึงมีพื้นที่อย่าง SCB Sky Space และ SCB Ground Space ขึ้นเพื่อตอบโจทย์วิถีการทำงานของคนรุ่นใหม่ให้เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งของสถานที่ทำงานที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและความสุขให้ชีวิตการทำงานมากขึ้น เพราะเราเชื่อว่าคุณภาพชีวิตที่ดีของพนักงานจะนำไปสู่คุณภาพของผลงานที่ดีตามมาด้วย