career


วิถีคนทำงานเก่ง เขาทำกันอย่างไร?


เคยสังเกตไหมว่า… คนที่ทำงานเก่ง ก็จะเก่งไปซะทุกด้าน ไม่ว่าจะได้รับมอบหมายงานอะไร ผลก็ออกมาดีตลอด เวลาพรีเซนต์งานก็น่าฟัง แถมยังเป็นที่รักของเพื่อนร่วมงาน ถ้าเราอยากเป็นแบบเขาบ้างต้องทำอย่างไรนะ?

จริง ๆ แล้ว พวกเขาเหล่านั้นอาจไม่ได้เก่งมาตั้งแต่เกิดหรอก แต่คนเก่ง ๆ ส่วนใหญ่เหล่านั้นต่างมี 3 เคล็ด(ไม่)ลับที่ยึดถือในชีวิตการทำงาน แล้วเคล็ด(ไม่)ลับเหล่านั้นมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย!

1. หยุด Multitasking แล้วหันมา Monotasking แทน

เชื่อว่าหลายคนมักติดนิสัยชอบอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เช่น ขณะทำงานก็คุยโทรศัพท์ หรือกินข้าว ดูหนังไปด้วย เพราะคิดว่าการทำแบบนี้จะช่วยประหยัดเวลาและทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น แต่! จริง ๆ แล้ว การทำแบบนั้น ไม่ได้ช่วยให้งานเสร็จเร็วและมีคุณภาพขึ้นเลย เนื่องจากการทำหลายสิ่งพร้อมกันในเวลาเดียวกันจะเป็นการลดสมาธิในการทำงานลง

เคล็ด(ไม่)ลับ: เมื่อถึงเวลางานให้ยึดหลัก Monotasking ซึ่งหมายถึง การทำงานทีละอย่าง โดยใช้ความคิดและสมาธิของเราทั้งหมดจดจ่อไปยังชิ้นงานนั้นเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ก็อย่าลืมปิดเสียงแจ้งเตือนของแอปฯ บันเทิงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแอปช้อปปิ้ง สตรีมมิ่ง หรือแอปเกม ในโทรศัพท์ เพื่อให้เราโฟกัสกับงานได้เต็มที่ หากใครทำตามวิธีนี้ รับรองว่างานจะเสร็จเร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิมแน่นอน

2. สื่อสารให้เป็น ใคร ๆ ก็อยากฟัง

การสื่อสารเป็นทักษะที่มีความสำคัญในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อธุรกิจ การพรีเซนต์งาน หรือการประชุม หากสื่อสารดีก็มีชัยไปกว่าครึ่ง เพราะการสื่อสารนั้นมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจและความรู้สึกของผู้ฟัง

ยิ่งในช่วงนี้ การประชุมมักถูกจัดในรูปแบบ Online แทน Face-to-face ทำให้ใครหลายคนอาจมีความรู้สึกอึดอัดใจ เพราะเหมือนว่าเรากำลังพูดอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์เพียงคนเดียว โดยไม่รู้ว่าผู้ฟังนั้นมีสมาธิจดจ่อกับคำพูดของเรามากแค่ไหน (กรณีที่ไม่ได้เปิดกล้องเห็นหน้า)

หากอยากรู้ว่าเราเป็นผู้พูดที่ดีแล้วหรือยัง ลองสังเกตการพูดของตนเอง โดยอัดคลิปขณะพูด แล้วประเมินลักษณะการพูดของตนเองว่าน่าฟังและดึงดูดผู้ฟังได้ไหม หากคิดว่าควรปรับปรุง ลองทำตามวิธีเหล่านี้ได้เลย

เคล็ด(ไม่)ลับ: เริ่มจากการปรับโทนเสียง ถ้าเราพูดด้วยเสียง Monotone ตลอดเวลา อาจทำให้ผู้ฟังรู้สึกเบื่อได้ จึงควรใช้โทนเสียงทั้งสูง-ต่ำ ให้เข้ากับบริบทของเนื้อหา เพื่อดึงดูดความสนใจ และทำให้ผู้ฟังมีอารมณ์ร่วมไปกับเรื่องที่เรานำเสนอ

นอกจากนี้จังหวะการพูดก็เป็นสิ่งสำคัญ ควรปรับการพูดให้ช้าหรือเร็วตามความเหมาะสม เพราะการพูดช้า จะทำให้เนื้อหาฟังดูเยิ่นเย้อและไม่น่าฟัง หรือหากพูดเร็วเกินไป ก็อาจทำให้ผู้ฟังจับใจความไม่ทัน และพลาดส่วนสำคัญไปได้

เมื่อเข้าใจหลักการแล้ว ทีนี้ก็ถึงเวลาลงมือทำ! ลองฝึกพูดวันละ 2-3 นาที อาจฝึกพูดนำเสนอผลงานหรือเล่าเรื่องชีวิตประจำวันสนุก ๆ ก็ได้ เพราะการฝึกพูดวันละนิด จะช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารให้ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน

3. ทำงานอย่างจริงจัง ก็ต้องรู้จักผูกมิตรอย่างจริงใจ

ในชีวิตการทำงาน เราต้องเจอผู้คนมากมาย ทั้งหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน และลูกน้อง ดังนั้นการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ รู้ไหมว่า เพียงแค่การแสดงออกง่าย ๆ หรือคำพูดเล็ก ๆ ก็สร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้แล้ว

เคล็ด(ไม่)ลับ: รู้จักเอาใส่ใจเพื่อนร่วมงานแม้เป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น จำชื่อเพื่อนร่วมงานให้ได้ และเรียกชื่อของเขาได้อย่างถูกต้อง หรือลองชวนเพื่อนที่ค่อนข้างขี้อายคุยเรื่องสนุก ๆ คลายความขัดเขินลง รวมถึงการรับบทเป็น “Supporter” คอยให้กำลังใจ และสนับสนุนเพื่อนร่วมงาน ตอนพวกเขาเสนอไอเดียดี ๆ ขึ้นมา วิธีเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า เราเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับคนรอบข้าง เป็นมิตร น่าคบหาอีกด้วย

ทั้งหมดนี้ต่างเป็นเคล็ดลับง่าย ๆ ที่จะช่วยให้เรามีชีวิตการทำงานที่ดีและมีความสุขมากขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานแบบโฟกัส การสื่อสาร และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน มาลองปรับเปลี่ยนตัวเองดูสักนิด รู้ตัวอีกทีเราอาจเป็นหนึ่งในคนเก่งที่ใคร ๆ ชื่นชมก็เป็นได้

Let’s enjoy your working life!