career


นาทีทอง! ในการทำงานเราคือตอนไหนกันนะ


เคยได้ยินใช่ไหมว่า “นกที่ตื่นเช้ามักจับหนอนได้ก่อน” เปรียบเหมือนคนที่เริ่มทำงานแต่เช้าตรู่ก็มักทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพมากกว่าคนที่ตื่นสาย แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ? เพราะบางคนตื่นแต่เช้ากลับสมองตื้อ คิดอะไรไม่ออก ไม่มีสมาธิทำงานซะงั้น

แต่กลับไปหัวแล่นช่วงบ่ายแทน หรือบางคนต้องรอให้ดึก ๆ หน่อยไอเดียถึงจะเริ่มมา ความคิดพึ่งเริ่มบรรเจิด

ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะว่าแต่ละคนมี Biological Prime Time หรือช่วงเวลาที่ Productive และมีสมาธิมากที่สุดแตกต่างกันไป ตามแนวคิดของ Sam Carpenter นักเขียนชาวอเมริกัน เจ้าของหนังสือ Work the System

รู้จัก Biological Prime Time ช่วงนาทีทองของการทำงาน

แนวคิด Biological Prime Time คือ การทำความรู้จักช่วงเวลาที่เราทำงานได้ดีที่สุดเพื่อที่เราจะได้วางแผน และจัดสรรเวลาในการทำงานให้มีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งช่วงเวลาการทำงานที่ Productive ที่สุดของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไปตาม Ultradian Rhythms หรือจังหวะการขึ้น-ลงของพลังงานในร่างกายนั่นเอง

ถ้าอธิบายให้ชัดเจน Ultradian Rhythms ก็คือ วงจรการขึ้นลงของพลังงานในร่างกายรอบละประมาณ 110 นาที โดยสามารถแบ่งเป็นสองช่วง ได้แก่ช่วงเวลา 90 นาทีแรกที่คนเราจะมีสมาธิจดจ่อกับสิ่ง ๆ หนึ่ง ตามด้วยช่วงเวลา 20 นาทีหลังที่พลังงานสมองของเราจะดรอปลง ซึ่งวงจรนี้จะถูกวนซ้ำไปเรื่อย ๆ ในแต่ละวัน

3 ขั้นตอนที่จะช่วยให้ค้นพบ Biological Prime Time ของตัวเอง

1. จดบันทึกเป็นเวลาอย่างน้อย 3 สัปดาห์

ในการหาแพทเทิร์นผ่านการสังเกต ยิ่งมีข้อมูลมากเท่าไหร่ ผลสรุปยิ่งแม่นยำมากขึ้นเท่านั้น การหาช่วง Biological Prime Time ก็เช่นกัน ยิ่งเราสังเกตตัวเองนานเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งรู้จักตัวเองมากขึ้นเท่านั้น โดย Sam Carpenter แนะนำว่าระยะเวลา 21 วัน ถือเป็นช่วงเวลาที่กำลังดีที่จะทำให้เห็นว่า พลังงานของเราขึ้น และลงในช่วงไหนของวันบ้าง

2. ให้คะแนนทุก ๆ ชั่วโมง

วิธีที่ดีที่สุดที่เราจะได้รู้จัก Biological Prime Time ของตัวเอง คือการให้คะแนนจาก 1-10 ในแต่ละชั่วโมงตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน โดย 1 คือเวลาที่เรามีพลังงานน้อยที่สุดในการทำงาน และ 10 คือช่วงเวลาที่เรารู้สึก Productive ที่สุด ซึ่งการให้คะแนนเช่นนี้จะช่วยทำให้เห็นว่า ช่วงไหนคือช่วงเวลาการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดของเรา

3. หลีกเลี่ยงคาเฟอีน

เชื่อว่าหลายคนมักใช้ชีวิตโดยมีกาแฟเป็นที่พึ่ง เมื่อไหร่ที่ตาเริ่มปิด มือเราก็จะรีบคว้าหากาแฟทันที เพราะนั่นคือวิธีการแก้ปัญหาที่ง่าย และเห็นผลไว แต่หากเราต้องการเก็บข้อมูลช่วงเวลาการทำงานของตัวเองให้แม่นยำที่สุด แนะนำให้หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มหรืออาหารที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนจะดีกว่า เพราะมันจะทำให้ข้อมูลของเราเกิดการผิดเพี้ยนได้ แต่หากจำเป็นต้องดื่มจริง ๆ ก็ขอให้จดไว้ทุกครั้งว่า สาเหตุที่สมาธิพุ่งในชั่วโมงนี้นั้นเป็นเพราะกาแฟ เป็นต้น

แม้ว่าการรวบรวมข้อมูลเพื่อหา Biological Prime Time จากการสังเกต และจดบันทึกจะต้องใช้เวลาสักหน่อย แต่ก็เป็นวิธีที่จะทำให้เราทำความรู้จักตัวเองได้ดีที่สุด ซึ่งหลังจากที่ได้ข้อมูลมาอย่างครบถ้วนแล้ว เราก็จะสามารถจัดตารางชีวิต และตารางการทำงานให้เหมาะสมกับช่วงเวลาที่พลังงานของเราพุ่ง และลดได้นั่นเอง

สรุปง่าย ๆ ก็คือ เราควรเลือกทำงานที่ต้องใช้พลังงานมากในช่วงเวลาที่เรา Productive ที่สุด และหากิจกรรมอื่น ๆ มาทำแทนในช่วงเวลาที่เราไม่ค่อย Productive เท่าไหร่นัก เช่น นอนพักสายตา ลุกออกจากโต๊ะทำงานไปยืดเส้นยืดสาย ดูคลิปตลก ๆ หรือหากิจกรรมอื่น ๆ ที่จะช่วยชาร์จพลังงานให้สมอง และร่างกายได้ดี เพื่อเตรียมพร้อมให้เรากลับมาลุยงานต่อได้อีกครั้งแบบสบาย ๆ