career


การทำงานในความต่างที่ลงตัวร่วมกับ LGBTQ+


พอเข้าเดือนมิถุนายน เรามักจะเจอของสีรุ้งอยู่รอบตัวเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็น โลโก้ แบรนด์ร้านค้า แอคเคาน์ใน Social Media เว็บไซต์ต่าง ๆ รวมถึงเครื่องประดับ ของตกแต่งสีรุ้งที่เพื่อนร่วมงานของเราพกติดตัวมาทำงานด้วย ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะนี่คือ

Pride Month นั่นเอง!

สัญลักษณ์สีรุ้งถือเป็นตัวแทนที่แสดงออกถึงการสนับสนุนให้มีความเท่าเทียมทางเพศของชาว LGBTQ+ (Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender และ Queer) ที่เป็นกลุ่มเพศทางเลือกที่มีความหลากหลาย มีอิทธิพล และบทบาทอย่างมากในยุคนี้

แล้วถ้าเรามีเพื่อนร่วมงานเป็นชาว LGBTQ+ ล่ะ เราจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อสนับสนุนเพื่อนของเราให้ทำงานได้อย่างมั่นใจ เฉิดฉายได้อย่างไม่รู้สึกแปลกแยก

ลองมาดู 3 วิธีง่าย ๆ ที่จะช่วยสนับสนุนเพื่อนชาว LGBTQ+ ในที่ทำงานของเราให้มากขึ้นกันดีกว่า…

1. พร้อมรับฟัง และเข้าใจโดยไม่ตัดสิน

การฟังเสียงของเพื่อน ๆ ชาว LGBTQ+ ด้วยความเข้าใจในความแตกต่างโดยไม่ตัดสิน และเข้าใจตัวตนของพวกเขาโดยไม่ ‘เหมารวม’ ถือเป็นขั้นแรกของการสนับสนุนความเท่าเทียมให้กับเพื่อนของเรา

เพราะการเต็มใจรับฟังอย่างไม่ปิดกั้น การให้การยอมรับและเข้าใจในตัวตนที่แท้จริงของพวกเขาจะช่วยสร้างบรรยากาศการทำงานให้ดีขึ้น ก่อเกิดเป็นมิตรภาพที่ดีในสังคมการทำงานได้อีกด้วย

ดังนั้น การรับฟัง และเข้าใจความเป็นตัวตนของเพื่อนชาว LGBTQ+ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม หากวันหนึ่งเพื่อนของคุณเปิดใจเล่าความเป็นตัวตนของเขาให้คุณฟัง ก็ลองทำตามคำแนะนำนี้ดูสิ แล้วคุณจะได้เพื่อนซี้ในที่ทำงานเพิ่มขึ้นแน่นอน

2. สร้างความกลมกลืน ยอมรับความต่างอย่างลงตัว

มุมมองที่หลากหลายมักจะก่อให้เกิดผลงานที่ยิ่งใหญ่! การทำงานที่มีคนหลากหลายความคิด หลากหลายมุมมอง ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้องค์กรขับเคลื่อนและพัฒนาต่อไปได้

สังคมการทำงานที่เคารพในความแตกต่างและไอเดียอันหลากหลายของทุกคนโดยไม่แบ่งแยกว่าใครเป็นใคร ก็ถือเป็นการให้เกียรติชาว LGBTQ+ เช่นกัน อีกทั้งยังเป็นการทลายกำแพงความต่างสร้างความกลมกลืน ทำให้ทุกคนในที่ทำงานมีโอกาสสร้างสรรค์ผลงานอย่างเท่าเทียมกัน และอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

การยอมรับมุมมองที่หลากหลาย และความเห็นที่แตกต่างจึงช่วยให้บรรยากาศในการทำงานไม่น่าเบื่อ เพราะทุกไอเดียล้วนมีคุณค่าในตัวเอง นอกจากนี้การสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เต็มไปด้วยความแตกต่างอย่างลงตัว ยังช่วยดึงศักยภาพการทำงานของทุกคนในองค์กรออกมาได้อย่างเต็มที่อีกด้วย

เพียงเท่านี้ทุก ๆ คนในองค์กรก็จะมีพื้นที่และโอกาสในการสร้างสรรค์ผลงานและเสนอไอเดียเจ๋ง ๆ ให้องค์กรอย่างเท่าเทียม โดยไม่ต้องมาพะวงเรื่องความแตกต่างของตนเองอีกต่อไป

3. “ใส่ใจ” มากเกินไปใช่ว่าจะดี

แน่นอนว่าความใส่ใจในตัวเพื่อนชาว LGBTQ+ เป็นสิ่งที่เราควรทำ แต่หากมันเป็นความใส่ใจที่มากเกินไปก็อาจส่งผลในแง่ลบได้เช่นกัน การบังคับให้คนอื่นยอมรับในแนวคิด พยายามยัดเยียดข้อมูล หรือเรียกร้องสิทธิจนเกินขอบเขต ก็อาจทำให้คนอื่นที่ยังไม่เข้าใจ เกิดอาการต่อต้านได้ กลายเป็นว่าหวังดี แต่ผลที่ได้กลับออกมาตรงกันข้ามซะอย่างนั้น

ทางที่ดีเราควรโฟกัสและรับฟังเสียงเพื่อน ๆ ชาว LGBTQ+ ให้แน่ชัดว่าต้องการอะไร และเราจะช่วยสนับสนุนพวกเขาได้แค่ไหน แล้วช่วยกระจายข้อมูลให้ผู้อื่นรับรู้ตามความเหมาะสม เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราเป็นผู้ที่พร้อมอยู่เคียงข้างรับฟัง และใส่ใจเขาอยู่เสมอ

เห็นไหมว่าเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศและสนับสนุนสิทธิมนุษยชนให้เพื่อน ๆ ชาว LGBTQ+ ได้เปล่งประกายอย่างเสรีในที่ทำงานได้เช่นกัน ว่าแล้วก็หยิบของสีรุ้งออกมาโชว์กันเลย!

Happy Pride Month!