career


ทำงานที่ Co-working Space ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างไร


กระแสของ Co-working space กำลังเป็นที่นิยมไปทั่วโลก การทำงานจึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่การนั่งในออฟฟิศเพียงอย่างเดียว หลายคนชอบนั่งทำงานในร้านกาแฟ หรือพื้นที่ Co-working space เพราะให้บรรยากาศที่ผ่อนคลายมากกว่า

องค์กรใหญ่ ๆ อย่าง Google หรือ Amazon เอง ก็นิยมจัดสรรพื้นที่ในออฟฟิศให้เป็น Co-working space ในองค์กร ให้พนักงานสามารถเลือกนั่งทำงานกันเอง ในเวลาที่ต้องการได้

ว่าแต่การนั่งทำงานในพื้นที่ Co-working space ช่วยทำให้เราทำงานได้มีประสิทธิภาพขึ้นได้อย่างไร จนทำให้บริษัทชั้นนำหลายแห่งเอาไอเดียนี้ มาปรับใช้ในองค์กร มาดูกันค่ะ

1. ความยืดหยุ่น ที่เลือกเองได้ (Flexibility)
เหตุผลง่าย ๆ ที่ Co-working space ช่วยสร้างความรู้สึกดี ๆ ให้ตั้งแต่ก่อนเริ่มทำงานคือ เราสามารถเลือกที่นั่งที่เราอยากนั่งได้เองตราบใดที่ที่นั้นยังว่างอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ริมหน้าต่างที่เห็นวิวข้างนอก โต๊ะที่ได้รับแสงที่เหมาะสม หรือโซฟามุมห้องเงียบ ๆ ที่ไม่มีคนมากวน เมื่อเลือกพื้นที่ที่เราชอบได้แล้ว ยิ่งจะทำให้เราทำงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

2. แรงจูงใจจากสภาพแวดล้อม (Motivation)
เพราะคนที่เข้ามานั่งทำงานใน Co-working space ต่างมาจากแผนกหรือสายงานที่ต่างกัน เมื่อคนแปลกหน้าเหล่านี้ไม่ใช่เพื่อนร่วมงานที่เจอกันบ่อย ๆ หรือไม่ใช่คนในแผนกที่คอยจับจ้องคุณ การทำงานในบรรยากาศที่แวดล้อมไปด้วยคนที่ตั้งใจทำงาน จะทำให้เรามีความตั้งใจทำงานเช่นกัน (ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับที่ว่าทำไมเราต้องไปออกกำลังกายที่ยิม!) นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมที่ตกแต่งอย่างเก๋ไก๋สวยงาม ถือเป็นแรงจูงใจชั้นดีที่ทำให้อยากทำงานมากขึ้นกว่าการนั่งทำงานในห้องทำงานเดิม ๆ

3. หลอมรวมเป็นสังคมเดียวกัน (Sense of community)
โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์มักชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม การที่ได้นั่งในสถานที่ที่แวดล้อมไปด้วยผู้คน ทำให้เรารู้สึกอุ่นใจ รู้สึกได้ถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ผลพลอยได้จากการไปนั่งทำงานในที่ใหม่ ๆ คือการได้เจอคนใหม่ ๆ ได้มีสังคมใหม่ ๆ ซึ่งทำให้เรา ได้แบ่งปันความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันซึ่งกันและกัน

4. สร้างเครือข่ายที่แข็งแรง (Networking)
Co-working space หลาย ๆ แห่งมักมีการจัดกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็น Workshop หรือ Event ต่าง ๆ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยสร้างคอมมูนิตี้ ของกลุ่มคนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน เช่น Community สำหรับ Start up ทำให้คนที่สนใจในเรื่องเดียวกันได้มาพบกัน สร้างเป็นเครือข่าย (Networking) ในกลุ่ม Community เดียวกันได้ต่อหลังจากจบงานไปแล้ว

นอกจากนี้ Co-working space มักจะเป็นที่รวมของคนที่กำลังจะเริ่มต้นกิจการ หรือคนทำงานฟรีแลนด์ ส่วนใหญ่เป็นคนที่กำลังมีไฟแรง มีความกระตือรือร้นในการริเริ่มทำอะไรใหม่ ๆ อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ พร้อมที่จะขยายเครือข่ายของกิจการตัวเอง ทำให้คนเหล่านี้ มองหาแรงบันดาลใจจากผู้คนใหม่ ๆ มองหา Connection หรือแม้กระทั่งมองหา Partner ในธุรกิจแบบ Cross-business

5. แฝงไว้ด้วยความเป็นมืออาชีพ (Sense of professionalism)
การทำงานในพื้นที่ Co-working space ที่คนโดยรอบทำงานกันจริงจัง นอกจากจะทำให้เราทำงานอย่างตั้งใจไปด้วยแล้ว ยังสร้างพื้นที่แห่งความเป็นมืออาชีพ ความน่าเชื่อถือ และความชัดเจนในการทำงาน ที่เราจะไม่สามารถหาได้จากการนั่งทำงานที่บ้าน หรือนั่งทำงานในร้านกาแฟ โดยเฉพาะองค์กรที่จัดพื้นที่ Open space ให้คนมานั่งทำงานนั้น สามารถดีไซน์ให้พื้นที่เหล่านี้มีอัตลักษณ์ขององค์กรซึ่งทำให้สามารถหล่อหลอมความเป็นอันหนึ่งอันเดียว ความเป็นสังคมเดียวกันขององค์กรให้พนักงานรับรู้ได้ ผ่านการดีไซน์ของ Co-working space เหล่านี้

ในไทยเอง ก็มีองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการสร้าง Productivity ให้กับพนักงาน ด้วยการสร้างพื้นที่ Co-working space ไม่น้อยทีเดียว หนึ่งในนั้นคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ที่ได้จัดเตรียมออฟฟิศแนวคิดใหม่ที่มีดีไซน์เก๋ไก๋ มีความทันสมัย และมีความหลากหลาย ถ้าคุณพร้อมแล้ว ลองกดเข้าไปสำรวจดูออฟฟิศ SCB กันเลย เผื่อว่าสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ แบบนี้จะสามารถเพิ่มแรงบันดาลใจในการทำงานให้กับคุณได้! >> https://careers.scb.co.th/th/life-at-scb/detail/new-concept-work-space/