career


Food Coma กินปุ๊ปง่วงปั๊ป แต่ยังนอนไม่ได้!


ถึงมื้อเที่ยงทีไร กินแบบจัดหนักจัดเต็มทุกที จะได้มีพลังไปทำงานต่อช่วงบ่ายยาว ๆ แต่ทำไมกลับง่วงซะได้? ใครเป็นแบบนี้อยู่ แสดงว่าคุณเข้าข่ายอาการ “Food Coma” นั่นคือ อาการง่วงนอนหลังกินอิ่ม มักเกิดหลังจากที่เรากินอาหารมื้อใหญ่

(ที่เน้นคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน) ทำให้เรารู้สึกหนักตัว ไม่อยากเคลื่อนไหวร่างกายเยอะ และง่วงพร้อมนอนสุด ๆ

อาการ “Food Coma” เกิดจากอะไร?

1. อาหารที่มีทริปโตเฟน (Tryptophan)

ทริปโตเฟน (Tryptophan) คือ กรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย พบในอาหารที่มีโปรตีนสูงทุกชนิด เช่น เนื้อสัตว์ เมื่อกินโปรตีนพร้อมกับอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต อย่างข้าวและขนมปัง ร่างกายจะผลิตสารเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยลดความตื่นตัว และทำให้รู้สึกผ่อนคลายออกมา

ดังนั้นการกินอาหารจำพวกแป้งและเนื้อสัตว์ที่มีทริปโตเฟนสูง จึงนำไปสู่การสร้างสารเซโรโทนิน และผลิตเมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายนอนหลับง่าย จึงไม่น่าแปลกใจหากเราจะรู้สึกง่วงนอนหลังจากกินอาหารมื้อใหญ่มา

2. อาหารที่มีไขมันสูง

การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงและคาร์โบไฮเดรตต่ำ จะทำให้ระดับฮอร์โมนคอเลซิสโทไคนิน (cholecystokinin) ที่ช่วยระงับความหิวนั้นสูงขึ้น เมื่อกินอาหารเต็มที่จนความหิวโหยนั้นหายไป ร่างกายจะส่งสัญญาณความอิ่มไปยังศูนย์สั่งการสมอง จึงทำให้เกิดอาการง่วงนอนขึ้นมานั่นเอง

3. การเปลี่ยนแปลงของระบบไหลเวียนเลือด

หลังจากที่เรากินอิ่ม ระบบประสาทพาราซิมพาเทติก (Parasympathetic Nervous System) จะกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อยและสั่งให้ระบบไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงที่กระเพาะมากขึ้น ในขณะที่เลือดส่วนที่ไปเลี้ยงสมองจะลดน้อยลง จึงทำให้เกิดอาการง่วงมากขึ้น

จะหลีกเลี่ยงอาการ “Food Coma” ยังไงดี?

1. เลือกเมนูอาหารกลางวันง่าย ๆ คลีน ๆ

ลองปรับพฤติกรรมการกิน โดยเลือกกิน “อาหารที่ย่อยง่าย” เช่น ข้าวต้ม แกงจืดกับข้าวสวย ก๋วยเตี๋ยวน้ำใส แทนการกินอาหารที่ย่อยยาก เพราะระบบไหลเวียนเลือดจะได้ไม่ต้องแบ่งเลือดไปเลี้ยงกระเพาะอาหารมากเกินไป

2. ปรับสัดส่วนอาหารให้พอดี

ในแต่ละมื้อ ควรจัดสัดส่วนของโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมันให้เหมาะสมต่อความต้องการของร่างกายเช่น เนื้อสัตว์และข้าวอย่างละ 1 ส่วน และไขมันดีประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะ ทั้งนี้ถ้าจะให้ดีควรเพิ่มผักลงไปด้วย และอย่าลืมกินผลไม้ตบท้ายด้วยนะ

3. ขยับร่างกายหลังมื้อเที่ยงกันสักหน่อย

รู้ไหมว่าขณะที่นั่งกินอาหาร เราจะหายใจช้าลง ทำให้ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกายสูงขึ้น ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณออกซิเจนในร่างกาย ลองแบ่งเวลามาเดินย่อยหลังกินอิ่ม สัก 10 นาทีก่อนกลับโต๊ะทำงาน จะช่วยให้ร่างกายตื่นตัว กระปรี้กระเปร่าพร้อมทำงานมากขึ้นด้วย

4. นอนหลับให้เพียงพอ

การนอนก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาการ Food Coma เช่นกัน ถ้าเรานอนหลับในเวลากลางคืนไม่เพียงพอ จะยิ่งทำให้รู้สึกง่วงหลังมื้อเที่ยงได้ ทางที่ดีเราจึงควรนอนหลับให้ได้ประมาณ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งถือเป็นเกณฑ์มาตรฐานของการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ

ใครที่รู้ตัวว่ากำลังเป็น “Food Coma” อยู่ ลองเอาคำแนะนำเหล่านี้ไปใช้ดู เพราะนอกจากจะช่วยสร้างนิสัยการกินที่ดีแล้ว ยังทำให้สมองและร่างกายของเรามีแรง พร้อมกลับโต๊ะทำงานไปสร้างสรรค์ผลงานในช่วงบ่ายต่อได้อย่างเต็มที่แน่นอน!

_________________________

อ้างอิงจาก https://www.verywellfit.com/what-is-a-food-coma-4146427