career


รู้จักกับ Self Efficacy กุญแจไขเคล็ดลับการทำงานให้สำเร็จ


Self Efficacy คือความเชื่ออย่างแรงกล้าในตัวคุณเอง ว่าคุณจะสามารถทำเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้สำเร็จ ตัวอย่างง่าย ๆ ใกล้ตัว เช่น การตั้งเป้าว่าจะลดน้ำหนักทุกต้นปี ซึ่งเป็นที่นิยมมาก ใคร ๆ ต่างก็ตั้งเป้าหมายนี้ แต่กลับมีคนไม่ถึง 20% ที่ทำได้สำเร็จ

และคนที่ทำสำเร็จก็คือคนที่มี High Self Efficacy นั่นเอง เนื่องจากคนเหล่านี้เมื่อมีความเชื่อแล้ว เขาจะแตกมันออกมาเป็นแผนการ และลงมือปฏิบัติตามแผนนั้นอย่างไม่ลดละ


แต่คนที่ขาดหรือไม่มี Self Efficacy มักจะตั้งเป้าหมายอยู่เรื่อย ๆ แต่กลับไม่ได้มีความเชื่อมากพอ จึงไม่ได้คิดหาวิธีที่จะลงมือทำมัน จนกระทั่งเป้าหมายนั้นค่อย ๆ มลายหายไปจากความคิด จนกว่าจะมีคนมากระตุ้นให้เกิดอยากมีเป้าหมายขึ้นอีกครั้ง 

เมื่อคุณสามารถทำเป้าหมายที่คุณตั้งไว้ได้สำเร็จบ่อย ๆ ความมั่นใจของคุณก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ ในทางกลับกันหากคุณตั้งเป้าแล้วแต่ทำไม่สำเร็จบ่อย ๆ Self-Confidence ของคุณก็จะลดลงไปเรื่อย ๆ และกลายเป็นคนที่ขาดความมั่นใจในตัวเองไปในที่สุด
 

เราจะพัฒนา Self Efficacy ได้อย่างไร?

  1. ตั้งเป้าให้สูงกว่าความสามารถที่คุณมีเล็กน้อย (Set goals slightly above your ability)
  2. แตกเป้าหมายใหญ่ให้เป็นเป้าหมายย่อย ๆ (Breaking goals into smaller pieces)
  3. โฟกัสที่ภาพรวมของงาน (Focus on the big picture)
  4. เปลี่ยนมุมมองที่มีต่ออุปสรรคเสียใหม่ (Reframe obstacles)
  5. ควบคุมชีวิตของคุณเองให้ได้ (Take control over your life)
 
 

5 ปัจจัยที่มีผลต่อ Self Efficacy


1. ความสำเร็จในอดีต (The Experience of Mastery)

เคยสังเกตไหมว่า คนที่ประสบความสำเร็จไม่ว่าจะทำอะไร ก็มักจะสำเร็จเสมอ ๆ เพราะเมื่อเขาทำเป้าหมายบางอย่างสำเร็จ ก็จะส่งผลให้มี Self Efficacy ที่สูงขึ้น ดังนั้นเมื่อเขาต้องการจะทำอะไรต่อ ก็มักจะสำเร็จอีกอยู่เรื่อย ๆ
 

2. ความสามารถในการจัดการความล้มเหลว (How to Handle Failure)

หากเราตั้งเป้าหมายและลงมือทำแล้ว ในบางคราเราคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะต้องเจอกับความล้มเหลวและความผิดพลาดได้ ดังนั้นทัศนคติของเราที่มีต่อความล้มเหลวจึงเป็นสิ่งสำคัญ มากกว่าการหลีกเลี่ยงไม่เผชิญหน้ากับความล้มเหลวเลย

แนวคิดที่คุณควรเรียนรู้ไว้เกี่ยวกับความล้มเหลวคือ การรู้จักแยกความล้มเหลวออกจากตัวคุณ แม้ว่าคุณอาจจะล้มเหลวในเรื่องใดเรื่องนึง แต่คุณนั้นก็ไม่ใช่คนล้มเหลวเสียทีเดียว เพราะความล้มเหลวและการถูกปฏิเสธเป็นส่วนนึงของความสำเร็จ ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะจัดการกับมันอย่างไร
                  

3. อิทธิพลของสังคมที่รายล้อมคุณ  (Social Modeling)

การเฝ้าดูคนที่ประสบความสำเร็จในเรื่องที่คุณตั้งเป้าไว้ จะเป็นแรงผลักดันที่ช่วยเพิ่ม Self Efficacy ให้กับคุณได้ ในขณะที่การมองคนที่ล้มเหลวในเรื่องที่คุณตั้งเป้าไว้ จะลด Self Efficacy ของคุณลง เช่น หากคุณเพิ่งเริ่มออกกำลังกายด้วยการวิ่ง แล้วคุณมีเพื่อนที่เก่งกว่าคุณเล็กน้อย จะช่วยผลักดันให้คุณมีกำลังใจออกกำลังกายไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งจะช่วยให้คุณไปถึงเป้าหมายได้ดีกว่า
 

4. กำลังใจจากคนรอบข้าง  (Social Persuasion)

คำพูดให้กำลังใจหรือบั่นทอนจิตใจล้วนมีผลกระทบต่อ Self Efficacy คุณจึงควรหลีกเลี่ยงให้ห่างจากคนที่คอยบั่นทอนกำลังใจคุณ และเข้าไปอยู่ใกล้กับคนที่คอยให้กำลังใจคุณเสมอ

หรือถ้าไม่มีใครจริง ๆ การให้กำลังใจตนเอง แบบ Positive Self-Talk ก็เป็นตัวช่วยที่จะทำให้คุณมีกำลังใจสู้ต่อไปได้ เช่น บอกตัวเองว่าคุณทำได้ You Can Do It! หรือวันนี้จะเป็นวันที่ดีของคุณอีกวัน การฟังเพลงที่ให้กำลังใจหรือเพลงที่คุณชอบก็เป็นอีกวิธีที่ได้ผลเช่นกัน


5. ความแข็งแกร่งของจิตใจ (Psychological Response)

บ่อยครั้งที่อาการสั่น ตื่นกลัว หรือไม่มั่นใจ มักเกิดขึ้นกับคนที่จำเป็นต้องขึ้นพูดในที่สาธารณะ หรืออยู่ในสภาวะที่รู้สึกไม่มั่นคง แต่คนที่มี High Self Efficacy จะไม่เอาอาการทางกายภาพเหล่านั้นมาทำให้ตนเองตื่นตระหนก หรือวิตกกังวลมากเกินเหตุ แต่กลับมองว่าลักษณะอาการแบบนั้นเป็นเพียงปฏิกิริยาทางธรรมชาติของมนุษย์ โดยไม่สงสัยในความสามารถของตัวเอง

ในขณะที่คนที่มี Low Self Efficacy อาจจะแปลความหมายของอาการสั่นตื่นเต้นว่า ตัวเองไม่มีความสามารถที่จะควบคุมตนเองได้มากพอ แต่คุณต้องระลึกไว้เสมอว่า แม้แต่นักพูดมืออาชีพบางครั้งก็ยังมีอาการสั่น ตื่นเต้นก่อนการพูดเช่นกัน แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่หยุดเขาไว้ไม่ให้ไปต่อ

แล้วคุณล่ะ คิดว่าตอนนี้ตัวเองเป็นคนแบบไหน High หรือ Low Self Efficacy? แต่ไม่ว่าจะเป็นคนแบบไหนก็ต้องไม่หยุดพัฒนาตัวเอง เพื่อให้ชีวิตมีความหมาย มีก้าวต่อไปของการเรียนรู้ และจงเชื่ออยู่เสมอว่าตัวเรานั้นมีความสามารถมากพอที่จะประสบความสำเร็จได้