career


ถึงจะมือใหม่ แต่ต้องรู้เรื่องภาษี


สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มทำงานปีแรก นอกจากการปรับตัวให้เข้ากับสถานที่ทำงาน เพื่อนร่วมงาน และชีวิตที่ต้องรับผิดชอบตัวเองมากขึ้นแล้ว หน้าที่อีกอย่างหนึ่งที่ตามมาจากการ ‘มีเงินเดือน’ แบบปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือ เรื่องของการ ‘เสียภาษี’ นั่นเอง

ซึ่งโดยปกติแล้วจะต้องมีการยื่นเสียภาษีปีละครั้งเป็นประจำทุกปี และแต่ละคนอาจมีเกณฑ์เงินได้ที่ต้องเสียภาษีแตกต่างกันไป แต่สำหรับมือใหม่ที่ต้อง ‘ยื่นภาษี’ เองเป็นครั้งแรกก็อาจจะมีคำถามเยอะหน่อย เช่น เราต้องเสียภาษีเท่าไหร่ มีหลักการคำนวณภาษีอย่างไร และจะใช้สิทธิลดหย่อนยังไงได้บ้าง ซึ่งข้อสงสัยทั้งหมดนี้เราได้รวบรวมคำตอบมาไว้ให้ที่นี่แล้ว ลองไปดูกันเลย....

เกณฑ์การยื่นภาษีสำหรับคนโสด VS คนที่แต่งงานแล้ว

  • เกณฑ์เงินได้ที่ต้องยื่นภาษีสำหรับคนโสด (ยังไม่แต่งงาน)

คือคนที่มีเงินเดือนมากกว่า 10,000 บาทต่อเดือนหรือ 120,000 บาทต่อปี ซึ่งนั่นก็หมายความว่าคนที่มี ‘เงินเดือน’ ต่ำกว่า 10,000 บาท ไม่จำเป็นต้องยื่นภาษีโดยไม่ผิดกฎหมาย และหากมีรายได้ทางอื่นที่ไม่ใช่เงินเดือน เช่น เป็นยูทูปเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์ หรือขายของออนไลน์ ที่มีรายได้เกิน 5,000 บาทต่อเดือนหรือมากกว่า 60,000 บาทต่อปี ก็ต้องยื่นภาษีเช่นกัน

  • เกณฑ์เงินได้ที่ต้องยื่นภาษีสำหรับผู้ที่แต่งงานแล้ว

คือ คนที่มีเงินเดือนมากกว่า 18,333 บาทต่อเดือนหรือ 220,000 บาทต่อปี และมีรายได้จากช่องทางอื่นเกิน 10,000 บาทต่อเดือนและ 120,000 บาทต่อปี

หลักการคำนวณภาษีแบบง่าย ๆ

หากคุณเป็นผู้ที่มีรายรับทางเดียวหรือเป็นพนักงานเงินเดือน รายได้ในการยื่นภาษีจะเท่ากับเงินเดือน แต่หากเป็นทั้งมนุษย์เงินเดือน และมีอาชีพเสริมที่สามารถสร้างรายรับเพิ่มได้ ก็เท่ากับว่าต้องเอาเงินเดือนกับรายได้เสริมมาคิดรวมกันเพื่อใช้ในการยื่นภาษีนั่นเอง

หลักการคำนวณภาษีสรุปได้ง่าย ๆ ตามสูตร ภาษี = เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี

ซึ่งเงินได้สุทธิคือ รายได้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว สูตรคือ เงินได้สุทธิ = เงินได้ (รายได้ทั้งหมด) – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน โดยที่ ‘ค่าใช้จ่าย’ จะถูกประเมินและหักเป็น 50% ของรายได้ทั้งหมด แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จากการประมาณการของกรมสรรพากร

เมื่อทราบสูตรการคำนวณแล้ว ก็ลองคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตาม 3 ขั้นตอน ดังนี้

1. คำนวณภาษีแบบขั้นบันได

โดยทางกรมสรรพากรจะมีการแบ่งหลักเกณฑ์ว่าผู้มีรายได้เท่าไร จะถูกคิดอัตราภาษีเท่าไร ยิ่งมีรายได้มากก็จะโดนเก็บภาษีมากขึ้นตามรายได้ ซึ่งกรณีนี้ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 150,000 บาทต่อปี คือผู้ที่ได้รับการยกเว้นภาษี

2. คำนวณภาษีแบบเหมา

เป็นการคิดภาษีสำหรับผู้ที่มีรายได้หลายช่องทาง คือมีรายได้ที่นอกเหนือจากเงินเดือนที่รวมกันแล้วมากกว่า 120,000 บาทต่อปี โดยจะคิดอัตราภาษี 5% จากคนกลุ่มนี้ และหากคำนวณภาษีในส่วนนี้ออกมาแล้วต่ำกว่า 5,000 บาท ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี

3. เปรียบเทียบภาษี

เมื่อทำสองขั้นตอนแรกเสร็จแล้ว ให้เปรียบเทียบดูว่าวิธีไหนต้องเสียภาษีมากกว่า ก็ให้เลือกเสียภาษีโดยวิธีนั้น

เมื่อรู้จำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีแล้ว หลายคนคงมองหาตัวช่วยที่เรียกว่าการ ‘ลดหย่อน’ อยู่แน่ ๆ เพราะหากต้องเสียภาษีเต็มจำนวนก็คงถึงกับเหงื่อตกหน้าซีดกันได้ ซึ่งไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะเราสามารถลดหย่อนภาษีได้จากหลากหลายวิธี ดังนี้

  • ค่าลดหย่อนพื้นฐาน

เป็นค่าลดหย่อนที่ไม่ต้องมีการลงทุนเพิ่มเติม โดยส่วนมากจะเป็นค่าใช้จ่ายที่เราต้องเสียเป็นประจำอยู่แล้ว เช่น ค่าลดหย่อนคู่สมรสกรณีไม่มีเงินได้ ค่าลดหย่อนเลี้ยงดูบุตร ค่าอุปการะเลี้ยงดูพ่อแม่ เป็นต้น

  • ค่าลดหย่อนด้านการออมและการลงทุน

บรรดากองทุน และประกันชีวิตต่าง ๆ ที่เราซื้อไว้ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุน SSF/RMF เบี้ยประกันชีวิตหรือเบี้ยประกันสุขภาพ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย เป็นต้น

  • ค่าลดหย่อนจากการบริจาค

การบริจาคเงินให้โรงพยาบาล และมูลนิธิเพื่อการกุศลต่าง ๆ นอกจากจะได้บุญแล้ว เรายังสามารถขอใบกำกับภาษีมาใช้ลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย

  • ค่าลดหย่อนพิเศษในปีภาษี

เป็นค่าลดหย่อนที่มาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ เช่น โครงการช้อปดีมีคืน เป็นต้น

สำหรับมือใหม่หลายคนที่ยังกังวลอยู่ ทำไม่เป็น หรือกลัวผิดพลาด สามารถรวบรวมเอกสารที่ต้องใช้ยื่นภาษี แล้วไปขอความช่วยเหลือที่สรรพากรเขตที่เราอาศัยอยู่ให้ช่วยดำเนินการกรอกเอกสารต่าง ๆ ให้ได้เลย หรือจะยื่นแบบออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากรก็ได้เช่นกันที่ https://www.rd.go.th