career


Self-hug stories: สร้างกำลังใจให้ตัวเองผ่าน 3 ไดอารี่แห่งเรื่องราว


เคยเป็นไหม? เวลาที่มีความสุข ก็อยากจดจำโมเมนต์นั้นเอาไว้ พอเวลาที่เศร้าหมอง ก็อยากระบายมันออกมาจากใจ หรือบางทีนั่งอยู่เฉย ๆ ก็นึกถึงเรื่องราวในอดีตที่แสนอบอุ่นหรือขมขื่นใจขึ้นมา แต่พอผ่านไปสักพักกลับจินตนาการถึงเรื่องราวในอนาคต

ที่ตัวเองอยากจะเป็น จนบางทีมันทำให้เราฟุ้งซ่าน และไม่รู้ว่าจะจัดการกับมันยังไงดี แล้วจะทำยังไงดีล่ะ ในเมื่อวัน ๆ หนึ่ง ในหัวเรามักจะเต็มไปด้วยหลายเรื่องราวหลากความรู้สึก โดยที่เราไม่สามารถควบคุมได้

วันนี้เราจึงอยากแนะนำวิธีฮีลใจแบบเบสิก ที่มีเพียงแค่สมุด 1 เล่ม กับปากกา 1 ด้าม ก็สามารถทำได้แล้ว นั่นคือ “การเขียนไดอารี่” นั่นเอง

รู้มั้ยว่าการเขียนไดอารี่ คือการให้เวลากับตัวเองได้ปลดปล่อยความคิดและความรู้สึกที่มีอยู่ออกมาผ่านตัวหนังสือ เปรียบเสมือนการทำ Self-reflection ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับการรับรองทางการแพทย์แล้วว่า สามารถช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับจิตใจของเราได้ การเขียนไดอารี่จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีการดูแลสุขภาพจิตใจของใครหลายคนมาอย่างยาวนาน

แล้วจะเขียนไดอารี่ยังไงให้ฮีลใจตัวเองได้ล่ะ?

อยากบอกว่าไดอารี่สามารถเป็นได้ทั้งเรื่องราวในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตก็ได้นะ งั้นเรามาทำความรู้จักกับไดอารี่แต่ละแบบไปพร้อมกันเลยดีกว่า!

1. Past Diary

คือ การเขียนเรื่องราวต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เช่น การประสบความสำเร็จ หรือความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นในชีวิต เป็นต้น เมื่อเรากลับมาอ่านแต่ละเรื่องราวที่ทั้งสุขและทุกข์ จะช่วยให้เราเห็นถึงความเข้มแข็งของตัวเองที่สามารถผ่านเรื่องราวต่าง ๆ มาได้ ทำให้เรียนรู้ว่า แม้ว่าตอนนี้เราจะกำลังเผชิญกับความทุกข์ แต่ก็ใช่ว่าจะอยู่ในสภาพนั้นตลอดไป เดี๋ยวความสุขก็จะตามมา ในชีวิตต่างมีสุขมีทุกข์สลับกันไปนั่นเอง

2. Future Diary

คือ การใช้จินตนาการสร้างเรื่องราวในอนาคตที่ตัวเองอยากเห็น อาจเป็นเรื่องของวันพรุ่งนี้ หรืออีก 10 ปีข้างหน้าก็ได้ เช่น พรุ่งนี้ฉันจะทำงานให้เสร็จเพื่อจะได้ไปเที่ยวกับครอบครัว หรือ ฉันจะได้ทำงานที่ชอบในอีก 2 ปีข้างหน้า เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้เราอยากมีชีวิตอยู่เพื่อทำตามเป้าหมายของตัวเองให้สำเร็จผ่านวิธีการที่เราได้กำหนดไว้ แต่ถ้าไม่สำเร็จ เรื่องราวต่าง ๆ ที่เราเขียนไว้ก็จะทำหน้าที่เป็น Past Diary นั่นเอง

3. Present Diary

คือ การถ่ายทอดเรื่องราวและความรู้สึกทั้งหมดที่อยู่ในหัวของเราขณะที่กำลังเขียนไดอารี่ ซึ่งจะช่วยให้เรารับรู้ และ¬จดจำความรู้สึกของตัวเองผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ อันจะนำไปสู่การสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางความรู้สึกให้กับตัวเอง และรับรู้ว่าควรหลีกเลี่ยงสถานการณ์แบบไหน ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากต่อการสร้างสุขภาพจิตที่ดีในระยะยาวนั่นเอง

หากวันไหนที่ท้อแท้หมดกำลังใจ รู้สึกสิ้นหวัง ลองมาเริ่มฮีลใจและโอบกอดตัวเอง ด้วยการหาสมุด 1 เล่ม กับปากกา 1 ด้าม แล้วเริ่มเขียนไดอารี่แห่งเรื่องราวของตัวเองกันดูไหม แล้วจะรู้ว่าวิธีนี้อบอุ่นดีต่อใจสุด ๆ

_________________________

อ้างอิงจาก https://www.rtor.org/2022/03/09/6-ways-writing-a-diary-can-support-your-mental-health/

https://www.journalwriting.blog/what-does-journaling-do-to-the-brain