career


รู้จัก ‘ตัวตน’ ก่อนเริ่มพัฒนา ‘ตัวเอง’ ด้วย Competency Iceberg Model


ในโลกยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน หลายคนต่างมุ่งมั่นพัฒนาตัวเองเพื่อให้เข้าใกล้ความสำเร็จที่มุ่งหวังไว้ จนเกิดความกดดันทำให้รู้สึกว่าเราต้องพัฒนาตัวเองบ้าง แต่จะทำอย่างไรล่ะ หากตอนนี้ยังรู้สึกว่าเราไม่เก่ง หรือไม่ถนัดอะไรจริง ๆ จัง ๆ สักอย่าง

ลองหยุดพักจากความคิดนี้สักครู่ และทบทวนดูอีกที เพราะสิ่งที่เราคิดว่าตัวเองเป็น อาจยังไม่ใช่ตัวตนทั้งหมดของเราก็ได้ แต่ตัวตน ศักยภาพ และความสามารถที่แท้จริงอาจซ่อนลึกอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า “ภูเขาน้ำแข็งแห่งสมรรถนะ” (Competency Iceberg Model)

ภูเขาน้ำแข็งแห่งสมรรถนะคืออะไร

Competency Iceberg Model เป็นทฤษฎีที่เปรียบเทียบบุคลิกภาพและสมรรถนะของคนเรากับภูเขาน้ำแข็งซึ่งมีสองส่วน ได้แก่ ส่วนที่อยู่เหนือน้ำ และส่วนที่อยู่ใต้น้ำ

โดยส่วนที่อยู่เหนือน้ำจะเป็นส่วนที่สังเกตเห็น วัดระดับ และพัฒนาได้ง่ายกว่า ได้แก่

  • ทักษะ (Skills) คือ ความสามารถในการทำสิ่งต่าง ๆ เช่น ทักษะในการขับรถ การพูด การทำอาหาร เป็นต้น
  • ความรู้ (Knowledge) คือ ศาสตร์ หลักการ หรือแนวคิดเฉพาะทาง เช่น ความรู้ทางด้านการตลาด หรือความรู้ทางด้านกฎหมาย เป็นต้น

ในขณะที่ส่วนที่อยู่ใต้น้ำจะสังเกตเห็นและวัดระดับได้ยากกว่า อีกทั้งยังมีสัดส่วนที่มากกว่าส่วนที่อยู่เหนือน้ำค่อนข้างมาก ได้แก่

  • บทบาททางสังคม (Social Role) คือ สิ่งที่เราแสดงออกมาเพื่อให้ผู้อื่นรับรู้ และมีมุมมองต่อตัวเราในแบบที่เราต้องการ เช่น เมื่อได้รับบทบาทเป็นหัวหน้าก็อยากให้คนอื่นมองว่าตัวเองเป็นผู้นำที่น่าเชื่อถือ เมื่อได้รับบทบาทเป็นลูกน้องก็อยากให้คนอื่นมองว่าตัวเองเป็นผู้ตามที่ดี
  • ภาพพจน์ที่รับรู้ตัวเอง (Self-Image) คือ ทัศนคติหรือความเชื่อที่แต่ละคนเชื่อว่าตัวเองเป็น เช่น เชื่อว่าตัวเองเก่ง เชื่อว่าตัวเองเป็นที่รักของคนรอบตัว
  • อุปนิสัย (Trait) คือ อุปนิสัยหรือพฤติกรรมของแต่ละคน เช่น เป็นคนอารมณ์ดี เป็นคนสบาย ๆ เป็นคนเข้มงวด
  • แรงจูงใจ (Motive) คือ แรงขับเคลื่อนภายในจิตใจที่ส่งผลต่อการกระทำ เช่น ต้องการให้ผู้อื่นชื่นชม การกระทำสิ่งต่าง ๆ จึงออกมาในลักษณะของการพิสูจน์ตัวเอง ต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข จึงชอบตามใจผู้อื่น

ลองนึกดูว่าที่ผ่านมาเราแค่โฟกัสที่ระดับความรู้และทักษะที่เรามี มากกว่าสังเกตว่าอะไรคือที่มาที่ไปของสิ่งที่เราเป็น หรือสิ่งที่อยู่ลึกลงไปภายในตัวตนหรือไม่ เพราะหากเราอยากเริ่มต้นพัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่ดีขึ้น เก่งขึ้นกว่าเดิม การหมั่นสังเกตตัวตนให้รู้จักและเข้าใจตัวเองอย่างถ่องแท้ จะถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาตัวเองอย่างแท้จริง

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเราควรเริ่มต้นพัฒนาตัวเองจากด้านใดเป็นด้านแรก ขอแอบกระซิบว่า EP. ต่อไป มีคำตอบ รอติดตามกันด้วยนะคะ

อ้างอิงจาก https://exeqserve.com/iceberg-need-build-competency-model-ed-ebreo/