career


Self-Improvement อย่างไรให้ทันคนอื่น ในยุคที่คนเก่งเต็มไปหมด


เคยเป็นกันไหม? เวลาเห็นเพื่อน ๆ พัฒนาตัวเอง จนได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง ประสบความสำเร็จ แถมมีรางวัลล้นมือ ทำให้รู้สึกว่าบนโลกนี้ช่างเต็มไปด้วยคนมากความสามารถ จนอดคิดไม่ได้ว่า นี่เรากำลังเดินถอยหลังในขณะที่คนอื่นเดินไปข้างหน้าอยู่หรือเปล่า...

การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นไม่ว่าจะบนฟีด social media หรือช่องทางอื่น ๆ เป็นสิ่งที่เข้ามาสั่นคลอนความเข้มแข็งในจิตใจของเราให้รู้สึกว้าวุ่น เหมือนต้องพยายามแข่งขัน และดิ้นรนเพื่อให้ทันคนอื่นอยู่ตลอดเวลาซึ่งไม่ใช่เรื่องดีเลย ถ้าอยากปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นเก่งขึ้นกว่าเดิมจริง ๆ ขอแนะนำให้ลองเปลี่ยนมาเป็นการเปรียบเทียบตัวเองในวันนี้กับตัวเองเมื่อวานแทน โดยโฟกัสแค่ว่าเราในวันนี้เก่งกว่าตัวเราเมื่อวานแล้วหรือยัง เพราะไม่มีอะไรจะน่าท้าทายไปกว่าการแข่งขันกับตัวเองอีกแล้ว...

นอกจากนี้ เมื่อเราต้องเจอกับงานและความรับผิดชอบมากมายที่ทำให้เป็นกังวลอยู่บ่อยครั้ง สิ่งที่ควรทำคือ การจัดลำดับความสำคัญของแต่ละงานว่างานใดควรทำก่อนหลัง เพราะเมื่อเราทำงานอย่างหนึ่งสำเร็จก็จะช่วยเติมเต็มความมั่นใจในการทำงาน และมีกำลังใจเหลือเฟือในการพัฒนาตัวเองอีกด้วย


สิ่งสำคัญอีกอย่างที่คนเก่งล้วนมีเหมือนกันก็คือแนวคิดแบบ Growth mindset ซึ่งตรงกันข้ามกับความคิดแบบ fixed mindset โดยคนที่มี Growth mindset มักมีโอกาสในการพัฒนาตัวเองได้ดีกว่า เพราะเชื่อว่าไม่ว่าใครก็สามารถพัฒนาได้ การได้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ ถือเป็นเรื่องน่าสนุกและท้าทาย มองว่าการขอความช่วยเหลือและคำแนะนำจากผู้อื่นไม่ใช่เรื่องน่าอาย คิดเสมอว่าการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด และเมื่อเผชิญกับความล้มเหลวอันน่าผิดหวังก็มองในแง่ดีว่า มันคือโอกาสที่จะได้เรียนรู้และอุดช่องโหว่ให้ตัวเองไม่ทำผิดพลาดแบบเดิมในครั้งถัดไป


หากรู้สึกว่าไม่สามารถสร้างแรงขับเคลื่อนให้ตัวเองได้มากเพียงพอ การมีไอดอลที่ประสบความสำเร็จเป็นแบบอย่างก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เรามีกำลังใจในการพัฒนาตัวเอง และช่วยนำพาให้เราเดินไปในเส้นทางที่ดีกว่าเดิมได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าเราจำเป็นจะต้องทำตามไอดอลคนนั้นไปเสียทุกอย่าง เราสามารถลองผิดลองถูกในการเลือกเส้นทางใหม่ ๆ ที่คิดว่าเหมาะสมกับตัวเองได้ เมื่อเลือกแล้วก็ต้องลองเผชิญหน้ากับสิ่งนั้น ซึ่งอาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนอันยิ่งใหญ่ในชีวิตของเราตามมาก็ได้

อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยคือ การเปิดใจรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์จากคนที่คอยชี้จุดบกพร่อง แล้วนำไปแก้ไข หรือรู้จักปล่อยวางหากพิจารณาแล้วว่าคำวิจารณ์นั้นเป็นการพูดเพื่อสร้างความขุ่นเคืองใจโดยหาสาระสำคัญไม่ได้ หรือพูดด้วยน้ำเสียงเหน็บแนม แทนที่จะเสนอแนะให้เรานำไปปรับปรุงต่อได้ สุดท้ายที่อยากฝากไว้คือ อย่าลืมชื่นชมตัวเองบ่อย ๆ ไม่ว่าจะก้าวไปข้างหน้าได้เล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม รวมถึงควรพาตัวเองไปล้อมรอบด้วยคนที่มีพลังบวกอยู่เสมอ


การพัฒนาตัวเองนั้น ไม่เพียงแต่จะช่วยให้เราทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ยังช่วยให้เรามีความมั่นใจในการเข้าสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่คนเก่งเต็มไปหมด แทนที่จะมองว่าเราแปลกแยกและไม่เก่งอยู่คนเดียว การพัฒนาตัวเองจะช่วยให้เรากลายเป็นหนึ่งในคนเก่งเหล่านั้นที่พร้อมจะขับเคลื่อนองค์กรให้ไปต่อได้อย่างน่าภาคภูมิใจ