career


People Service Management ผู้อยู่เบื้องหลังยามเจ็บป่วย


ในยามที่เราไม่สบาย นอกจากอาการเจ็บป่วยทางกายที่น่าเป็นห่วงแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ใครหลายคนกังวลได้มากไม่แพ้กันก็คือ เรื่องของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ตามมา ถึงแม้ว่าหลายบริษัทจะมีสวัสดิการด้านค่ารักษาพยาบาลให้กับพนักงานอยู่แล้ว แต่บางครั้งก็อาจรู้สึกสับสนไม่รู้ว่าจะต้องใช้สิทธิ์อย่างไร

หรือสิทธิ์ที่เรามีอยู่นั้นครอบคลุมการรักษาอาการหรือโรคเหล่านั้นหรือไม่

เพราะทราบดีว่าการจัดการเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของพนักงานเป็นอย่างมาก การดูแลเรื่องสิทธิในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจึงต้องได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษ วันนี้ทาง Career SCB จึงขอพาไปรู้จักกับ คุณเอก - ณัทชยุต ศรีโมรา ผู้อยู่เบื้องหลังการดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาลของพนักงาน SCB ที่พร้อมดูแลให้การเบิกสิทธิค่ารักษายามเจ็บป่วยเป็นเรื่องง่ายสำหรับพนักงานทุกคน

จุดเริ่มต้นของการทำงานที่ SCB

คุณเอกจบการศึกษาด้านบัญชี จึงมีความคุ้นเคยกับตัวเลขและการทำงานกับข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับการทำงานเกี่ยวกับการเงินที่ต้องอาศัยความละเอียดรอบคอบ โดยคุณเอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่มาทำงานกับ SCB ว่า “ตอนสมัยพี่เรียน SCB เขามารับสมัครงานที่มหาวิทยาลัย พี่ก็เลยรู้สึกสนใจมาตั้งแต่ตอนนั้น ทีนี้พอรุ่นพี่มาชวนก็เลยตอบตกลง เพราะมองเห็นถึงโอกาสในการเติบโต แล้วก็ทำงานยาวมาเลยจนถึงตอนนี้”

โดยในช่วงแรกของการทำงาน คุณเอกดูแลเรื่องการเบิกจ่ายงานฌาปนกิจของพนักงานมากว่าสิบปี ก่อนที่จะมาทำงานรับผิดชอบในส่วนค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลในปัจจุบัน โดยในฐานะพนักงานที่ทำงานกับธนาคารมาอย่างยาวนาน พี่เอกจึงรู้สึกผูกพันกับองค์กรนี้เป็นอย่างมาก

ใน 1 วันของพี่เอกกับงาน People Service Management ทำอะไรบ้าง

พี่เอกเล่าให้ฟังว่า “ที่จริงแล้ว หน่วยงานพี่รับผิดชอบอยู่หลายอย่าง แต่ถ้าในส่วนของทีมพี่ก็จะดูแลเรื่องการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับพนักงานปัจจุบัน รวมถึงพนักงานที่เกษียณอายุไปแล้วบางส่วน”

โดยงานประจำวันของพี่เอกคือ การบันทึกข้อมูลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล และรับสายโทรศัพท์พนักงานที่โทรเข้ามาขอคำปรึกษาเรื่องการเบิกจ่าย หรือสวัสดิการต่าง ๆ รวมทั้งประสานงานกับโรงพยาบาล เพื่อติดตามข้อมูลการเบิกจ่ายของพนักงาน

ความสำเร็จของงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย

นอกจากการใช้ความละเอียดรอบคอบดูแลข้อมูลการเบิกจ่ายให้ถูกต้องแล้ว พี่เอกบอกว่าส่วนงานที่ทำจะต้องประสานงานกับคนอีกหลายฝ่ายเพื่อให้งานบรรลุผลสำเร็จ “งานนี้จะต้องทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน ตั้งแต่เพื่อนร่วมทีมในส่วนงาน People ด้วยกันเอง ไปจนถึงหน่วยงานภายนอกอย่างโรงพยาบาลต่าง ๆ”

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อพนักงานของธนาคารติดเชื้อโควิด-19 ทีม PSP (People Strategic Partner) ซึ่งเป็นด่านหน้าในการดูแลพนักงานก็จะส่งข้อมูลมายังคุณเอกว่ามีคำร้องขอเบิกจ่าย ซึ่งคุณเอกก็ต้องทำงานร่วมกับหน่วยงาน Finance เพื่อยืนยันความถูกต้องของข้อมูล และส่งต่อไปให้บริษัทประกันคู่สัญญาของธนาคารต่อไป

การรับมือกับสถานการณ์โควิดที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน

ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ธนาคารได้มีนโยบายให้พนักงาน Work From Anywhere มากว่าสองปีแล้ว ทำให้ทีมพี่เอกต้องปรับวิธีการเบิกจ่ายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพนักงานมากขึ้น โดยให้พนักงานที่ต้องการเบิกค่าใช้จ่ายส่งข้อมูลมาทางออนไลน์ก่อน แล้วค่อยส่งเอกสารหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายฉบับจริงมาทางไปรษณีย์ทีหลัง

ถึงแม้ว่ารูปแบบการทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทำให้พนักงานต้องทำงานอยู่ห่างไกลกันคนละที่ แต่คุณเอกมองว่าเรื่องนี้ก็มีข้อดีอยู่บ้างเพราะ “อย่างน้อยที่สุดโควิด-19 ก็ทำให้เรามีเวลาอยู่ที่บ้าน และได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น”

ความท้าทายของงานที่ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ

เมื่อถามถึงความท้าทายในงานที่ทำ คุณเอกเล่าให้ฟังว่าอย่างแรกเลยคือ พนักงานแต่ละคนมักมีความต้องการหรืออาการเจ็บป่วยที่ไม่เหมือนกัน ทำให้พนักงานบางคนกังวลว่าอาการเจ็บป่วยที่ตัวเองเป็นอยู่จะเข้ากับเงื่อนไขการเบิกจ่ายของธนาคารหรือไม่ พี่เอกจึงมีหน้าที่คอยแนะนำข้อมูลการใช้สวัสดิการตามสิทธิ์ให้ถูกต้อง และช่วยเลือกสถานที่รักษาพยาบาลที่เหมาะสมกับพนักงานแต่ละคนให้ได้มากที่สุด โดยจะช่วยคิดคำนวณค่าใช้จ่ายให้ครอบคลุมอยู่ในวงเงินประกัน ทำให้ไม่จำเป็นต้องจ่ายเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม หรือถ้ามี ก็ต้องทำให้ค่าใช้จ่ายส่วนต่างนั้นน้อยที่สุด

อีกเรื่องหนึ่งที่คุณเอกมองว่ามีความท้าทายไม่แพ้กันก็คือ การปรับตัวตามให้ทันกับกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นเรื่องของกฎหมาย PDPA (Personal Data Protection Act) ที่ให้ความสำคัญกับการจัดเก็บ และใช้ข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งมีความละเอียดอ่อน โดยที่ SCB ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เราจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบล่วงหน้าก่อนที่กฎหมายจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการ โดยทุกครั้งที่พนักงานส่งคำร้องขอเบิกจ่ายเข้ามา พนักงานจะต้องให้ความยินยอมในการใช้ และจัดเก็บข้อมูลในระบบออนไลน์ด้วย

แม้จะมีการอำนวยความสะดวกให้กับพนักงานด้วยการขอความยินยอมในการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลผ่านระบบออนไลน์แล้วก็ตาม แต่ผลที่ตามมาจากการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบและการบังคับใช้กฎหมาย PDPA ก็กลับสร้างความลำบากใจให้กับคนบางกลุ่มได้เช่นกัน คุณเอกเล่าว่า “อย่างที่บอกไปว่าทีมพี่ต้องทำงานกับพนักงานที่เกษียณอายุเพื่อดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาลด้วย และเนื่องจาก SCB มีประวัติการก่อตั้งมาร้อยกว่าปี พนักงานบางคนอายุ 90 ปีก็มี การที่จะให้เขาใช้ระบบออนไลน์ เพื่อยินยอมให้ใช้ข้อมูลทุกครั้งจึงอาจกลายเป็นเรื่องยาก เพราะคนกลุ่มนี้มักใช้การยื่นคำร้องขอเบิกจ่ายแบบออฟไลน์มาตลอด”

เพราะเข้าใจดีถึงความลำบากในจุดนี้ ทีมคุณเอกจึงใช้วิธีส่งเอกสารขอความยินยอมในการจัดเก็บและใช้ข้อมูลส่วนบุคคลทางไปรษณีย์แทน เพื่อให้พนักงานกลุ่มนี้ให้ความยินยอมเพียงครั้งเดียวและสามารถใช้ได้ตลอดไป ในครั้งต่อไปหากต้องการใช้สิทธิ์เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ก็สามารถส่งเอกสารหลักฐานมาทางไปรษณีย์ได้เลย

ความประทับใจของคนเบื้องหลังที่คอยบรรเทาความกังวลให้คนอื่น

ถ้าให้เล่าถึงความประทับใจตลอดช่วงระยะเวลาที่ได้ทำงานในส่วนนี้มา พี่เอกบอกว่า “ในแง่หนึ่ง งานนี้เป็นงานที่เกี่ยวพันกับความเดือดร้อนและทุกข์ใจของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่ารักษาพยาบาล หรือเรื่องค่าฌาปนกิจที่พี่เคยทำมา ดังนั้นการที่เราสามารถให้คำแนะนำเรื่องค่ารักษาพยาบาล หรือทำเรื่องเบิกจ่ายเงินให้กับพนักงานได้สำเร็จ เราก็รู้สึกดีที่ช่วยคลายความทุกข์ของพนักงานลงไปได้ส่วนหนึ่ง”

พี่เอกเสริมต่อว่า “พอพี่ได้มีโอกาสพูดคุยกับพนักงาน นอกเหนือจากเรื่องการเบิกจ่าย พี่ก็อาจจะคุยเรื่องสัพเพเหระทั่วไปด้วย ซึ่งก็จะทำให้เราทราบความต้องการที่แท้จริงของพนักงานเหล่านี้มากขึ้นไปในตัวเช่นกัน”

Final say ที่อยากฝากบอกถึงคนทำงานทุกคน

จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาของพี่เอกที่ผ่านความท้าทายมานับครั้งไม่ถ้วน พี่เอกจึงได้ฝากข้อคิดถึงคนทำงานรุ่นใหม่ว่า “ไม่ว่าเราจะอยู่หน่วยงานไหนก็ตาม ถึงแม้ว่าเราจะทำหน้าที่แตกต่างกัน แต่ทุกงานล้วนแล้วแต่ต้องเกี่ยวข้อง และมีการประสานงานกัน เราก็ควรที่จะร่วมมือร่วมใจกันทำงานแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้สำเร็จลุล่วง เพื่อให้บรรลุสู่เป้าหมายไปด้วยกัน”

สุดท้ายนี้ในมุมของคนทำงานเบื้องหลังที่เปรียบเหมือนการปิดทองหลังพระ การมองเห็นคุณค่าของงานที่ทำอยู่เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เหมือนที่พี่เอกกล่าวไว้ว่า “ขอให้รักและเห็นความสำคัญของงานที่เราทำ เพราะเวลาที่เราให้คำปรึกษาพนักงาน เราจะสามารถเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจในปัญหาของพวกเขาได้ดียิ่งขึ้น”