career


Employee Well-Being ความสำเร็จขององค์กรที่เริ่มต้นจากสุขภาพดี


การที่เราจะทำงานใดให้สำเร็จออกมาได้ นอกจากความรู้ ทักษะ และความมุ่งมั่นที่มีต่องานนั้นแล้ว อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่หลายคนอาจมองข้ามไปคือเรื่อง “สุขภาพ” เพราะการที่เรามีสุขภาพกายและจิตที่ดีย่อมทำให้เราทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพตามไปด้วย

ยิ่งในช่วงโควิด 19 ทำให้หลายคนระมัดระวังตัวในการใช้ชีวิตมากขึ้น การดูแลสุขภาพร่างกายและสภาพจิตใจให้แข็งแรงจึงยิ่งสำคัญมากขึ้นไปอีก วันนี้ SCB Career จึงอยากแนะนำให้รู้จักกับ คุณเล็ก - นิธินาถ สุโรจนานนท์ ผู้ผันตัวจากอดีตพยาบาลวิชาชีพสู่ Employee Well-Being Manager ฮีโร่หญิงแกร่งผู้คอยดูแลเรื่องสุขภาพในทุกมิติของพนักงานไทยพาณิชย์และครอบครัว

จุดเริ่มต้นที่ไม่ธรรมดา ก่อนจะมาเป็น Employee Well-Being Manager

คุณเล็กจบการศึกษาจากคณะพยาบาลศาสตร์ หลังเรียนจบก็ทำงานเป็นพยาบาลวิชาชีพอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งเป็นเวลา 17 ปี โดยคุณเล็กเล่าให้ฟังว่า ตนเองนั้นเป็นพยาบาลรุ่นเก่า และในสมัยนั้นพยาบาลต้องทำหน้าที่หลายอย่าง ตั้งแต่รักษาผู้ป่วยนอก ไปจนถึงดูแลเคสผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งเวลาที่ต้องออกไปกับรถพยาบาลฉุกเฉินก็จำเป็นต้องมีทักษะการตัดสินใจที่ถูกต้องและรวดเร็วพอ เพราะทุกการตัดสินใจในแต่ละเสี้ยววินาทีนั้นมีผลต่อชีวิตของผู้ป่วย

คุณเล็กเล่าให้ฟังต่อว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้อยากทำอาชีพพยาบาลวิชาชีพคือ ตอนที่ฝึกงานอยู่ต่างจังหวัด ก็สัมผัสได้ว่ามีผู้ป่วยบางคนขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่เหมาะสม ทำให้อยากเป็นพยาบาลเพื่อที่จะได้มีส่วนช่วยเหลือผู้ป่วยเหล่านั้นได้มากขึ้น

แม้แต่ตอนที่ทำงานอยู่โรงพยาบาลเอกชน ก็ทำงานกับโรงพยาบาลที่มีนโยบายช่วยเหลือคนไข้ที่ไม่มีทุนทรัพย์ ครั้งหนึ่งเคยมีคนงานโดนไฟช็อตเข้ามารักษา คุณเล็กก็ไม่เคยถามถึงเรื่องเงิน เพราะมองว่าไม่ว่าจะเป็นใครก็ต้องได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียมกัน

จุดเปลี่ยนในชีวิตจากพยาบาลวิชาชีพ สู่การทำงานที่ SCB

เนื่องจากก่อนที่จะมาทำงานที่ SCB คุณเล็กเคยดูแลงานส่งเสริมสุขภาพของโรงพยาบาลอยู่แล้ว ซึ่งงานหลักก็จะเป็นการเน้นป้องกันก่อนการรักษา เช่น การตรวจสุขภาพหาความเสี่ยงของโรค หรือกิจกรรมให้ความรู้เชิงสุขภาพต่าง ๆ จนกระทั่งคุณเล็กได้มีโอกาสทำงานร่วมกับธนาคารในฐานะที่ปรึกษาเพื่อจัดตั้งห้องพยาบาลตามกฎหมายแรงงาน จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนในอาชีพครั้งสำคัญ

ด้วยความที่ชอบช่วยเหลือคนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้การย้ายมาทำงานที่ SCB ตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี เพราะการทำงานที่ห้องพยาบาลของธนาคารนั้น ทำให้ได้พบเจอกับผู้คนหลากหลายรูปแบบ เมื่อมีพนักงานเจ็บป่วย ก็สามารถช่วยเหลือพวกเขาได้โดยไม่มีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดใด ๆ แถมยังได้รับรอยยิ้มและคำขอบคุณจากเหล่าพนักงานเป็นเสมือนโบนัสให้ชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองทำให้พี่เล็กมีความสุขกับการทำงานในทุก ๆ วัน นอกจากนี้การทำงานที่นี่ก็ยังทำให้ได้ใกล้ชิดกับครอบครัวมากขึ้นอีกด้วย

ชีวิตและการทำงานที่เต็มใจอุทิศให้กับการส่งเสริมสุขภาพ

“ความรับผิดชอบหลักของพี่คือ งานด้านการส่งเสริมสุขภาพของพนักงานธนาคาร หรือก็คือทำอย่างไรก็ได้ที่ทำให้พนักงานรวมถึงครอบครัว มีสุขภาพกายและจิตที่ดี”

โดยคำว่า “ส่งเสริมสุขภาพ” ในความหมายของคุณเล็ก มีตั้งแต่งานห้องพยาบาล การให้บริการฉีดวัคซีน การตรวจร่างกาย หรือแม้กระทั่งการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทำให้ช่วงก่อนโควิดได้มีโอกาสออกเดินทางทำงานส่งเสริมสุขภาพตามต่างจังหวัด และได้ช่วยเหลือคนมากมายเหมือนอย่างที่เคยทำเมื่อสมัยเป็นพยาบาลวิชาชีพ

นอกจากนี้คุณเล็กยังช่วยดูแลด้านการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลอีกด้วย หนึ่งในผลงานที่คุณเล็กเคยทำคือ โครงการใบส่งตัว ที่ช่วยให้พนักงานไม่จำเป็นต้องสำรองจ่ายก่อนเวลาเข้ารักษาพยาบาล ทำให้สามารถหักค่าใช้จ่ายจากวงเงินรักษาได้เลย ช่วยคลายความทุกข์ของพนักงานให้ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายใดๆ

การรับมือกับสถานการณ์โควิดที่ต้องดูแลพนักงานกว่าสองหมื่นชีวิต

คุณเล็กเล่าให้ฟังว่า “ตั้งแต่โควิดเริ่มเกิดขึ้นใหม่ ๆ หรือช่วงตุลาคม ปี 2019 ตอนนั้นพี่เพิ่งทำโครงการ SCB Telecare อยู่พอดี โดยโครงการนี้ตั้งใจจะให้พนักงานมีตัวเลือกในการรักษาพยาบาลได้จากทุกที่ ทุกเวลา เป็นการพบแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์ พอโควิดมาตอนต้นปี 2020 ก็เป็นเหมือนการเตรียมตัวล่วงหน้าที่จะใช้ระบบนี้กับพนักงานของเรา”

สำหรับมาตรการการรับมือกับโควิด-19 คุณเล็กใส่ใจดูแลพนักงานของ SCB ทุกคนทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาวัคซีน การคัดกรองหากลุ่มเสี่ยงผู้ติดเชื้อ การจัดหาสถานที่สำหรับกักตัว ไปจนกระทั่งติดตามอาการขณะป่วย เรียกได้ว่าครอบคลุมตั้งแต่ต้นจนจบทั้งการป้องกันไปจนถึงรักษาจนหายป่วยกลับมาแข็งแรงดีกันเลยทีเดียว

นอกจากนี้ในส่วนของการดูแลพนักงานที่สุขภาพแข็งแรงดีอยู่แล้ว ก็มีโครงการ SCB Good Health ที่เป็นการให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ อย่างเช่นท่าโยคะที่ช่วยคลายปวดกล้ามเนื้อและแก้ Office syndrome หรือมีการจัดการตรวจสุขภาพพนักงานประจำปี ที่ทำเหมือนช่วงปกติก่อนเกิดโควิด-19 อยู่แล้ว

ความท้าทายคือเครื่องมือที่ช่วยพิสูจน์ความสามารถ

“ความท้าทาย คือสิ่งที่ทำให้เราได้พิสูจน์ความรู้ความสามารถที่เรามี” คุณเล็กกล่าว

เมื่อเทียบกับตอนทำงานโรงพยาบาลที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตคน พี่เล็กบอกว่ามีสิ่งที่ต้องปรับตัวอยู่หลายอย่าง ที่เห็นภาพชัดสุดเลยก็คือการจ่ายยาในห้องพยาบาล เพราะตามขั้นตอนทางการแพทย์ที่ถูกต้องแล้ว ผู้ป่วยจะต้องเป็นผู้รับยาด้วยตนเอง เพื่อที่พยาบาลจะได้ประเมินและจ่ายยาได้อย่างเหมาะสม

แต่ก็มีพนักงานบางคน ที่อาจจะไม่ได้เข้าใจในขั้นตอนตรงนี้ หรือมองว่าเราไม่ใช่โรงพยาบาลจึงไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดขนาดนั้นก็ได้ ตรงจุดนี้เราก็ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ของตัวเขาเอง

ความสุขและความสำเร็จที่มีค่ามากกว่าตัวเงิน

“อย่างที่เล่าไปว่าตอนที่เป็นพยาบาล เรารู้สึกมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือคน งานนี้ก็ไม่ต่างกันเลย ไม่ว่าจะเป็นช่วงสึนามิ ไข้หวัดซาร์ส หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่โคราชเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา พี่กับเพื่อนพนักงานที่ได้รับผลกระทบก็ได้เรียนรู้ที่จะรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ไปด้วยกัน”

“งานหลายอย่างที่พี่ทำ อย่างเรื่องการจัดหาที่กักตัวให้พนักงานก็อาจไม่ใช่หน้าที่รับผิดชอบของพี่โดยตรง แต่พอเรามีโอกาสได้ไปทำ เราก็เห็นเลยว่าเราทำให้พนักงานมีความสุขได้ อย่างเวลามีวันเกิดของพนักงานคนไหนในสถานที่กักตัว เราก็จะมาร้องเพลงอวยพรวันเกิดให้เขากัน ถือเป็นความสุขเล็ก ๆ ในช่วงวิกฤตนี้”

คุณเล็กทิ้งท้ายไว้ว่า “หากเรามีอะไรที่เราทำได้เพื่อให้เพื่อนพนักงานและครอบครัวมีสุขภาพดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ พี่คิดว่าสิ่งเหล่านี้คือความสำเร็จในงานของพี่นะ”