career


ลงทุนในอนุพันธ์


สำหรับคนที่สนใจการลงทุนแบบเก็งกำไรเพื่อขายในอนาคต การลงทุนในอนุพันธ์ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ตอบโจทย์ความต้องการของเราได้ เพราะเป็นการลงทุนผ่านการทำ ‘สัญญาล่วงหน้า’ เพื่อซื้อ-ขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ระหว่างสองฝ่าย

ซึ่งเป็นการลงทุนผ่านการคาดการณ์ ‘อนาคต’ ที่หลายครั้งมักจะ ‘คาดเดา’ ไม่ได้ จึงต้องประเมินความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ให้ดีเสียก่อน เนื่องจากการลงทุนมีความเสี่ยงเสมอ

คีย์เวิร์ดสำคัญในการลงทุนแบบอนุพันธ์ก็คือ “สัญญา” ซึ่งในที่นี้หมายถึง การที่ทั้งสองฝ่าย ‘ตกลง’ ว่าจะทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้ หากไม่ทำตามสัญญา จะต้องเสียค่าปรับหรือค่าผิดสัญญา โดยการลงทุนในอนุพันธ์แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น ลองมาดูกันเลย....

1. Forward

เป็นการทำสัญญาระหว่างกัน โดยมีการ ‘ตกลงกันเอง’ ระหว่างสองฝ่าย โดยไม่มีคนกลางหรือหน่วยงานใดเข้ามาควบคุม ถือเป็นการลงทุนที่มีความ ‘เสี่ยงสูง’ มาก เพราะมีโอกาสเกิดการผิดสัญญาได้มากกว่าอนุพันธ์แบบอื่น ๆ โดยคนที่ทำผิดสัญญามักยอมเสียค่าปรับในการผิดสัญญา เพราะมองเห็นโอกาสที่จะได้กำไรจากทางเลือกอื่น ๆ มากกว่าสัญญาที่มีการตกลงกันไว้ในอดีต

ตัวอย่างของการทำ Forward เช่น นาย A เป็นผู้ซื้อ ได้ทำสัญญากับนาย B ที่เป็นผู้ขายสินค้า X ซึ่ง ณ ตอนทำสัญญา มีราคาตลาดอยู่ที่ 8,000 บาท โดยนาย B ซื้อสินค้าชิ้นนี้มาในราคา 6,000 บาท และนาย A สัญญาว่าจะซื้อสินค้า X ในราคา 10,000 บาทในอีก 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งนาย B ก็ตอบรับสัญญา โดยมีการตกลงว่าจะขายสินค้า X ในราคา 10,000 บาทให้แก่นาย A

แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนกระทั่งถึงวันนัดรับของ สินค้าชิ้นนั้นเป็นที่ต้องการในตลาดเป็นอย่างมาก ทำให้ราคาพุ่งสูงถึง 13,000 บาท ซึ่งหากนาย B ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ คือขายให้นาย A ก็จะได้กำไรเพียง 66.67% เท่านั้น แต่ถ้านาย B นำสินค้าไปขายเองในตลาดจะได้กำไรมากถึง 116.67% เลยทีเดียว (ก่อนหักค่าปรับที่ผิดสัญญา) นี่จึงเป็นแรงจูงใจที่ทำให้เกิดการผิดสัญญาได้

2. Futures

เป็นอนุพันธ์ที่พัฒนามาจากข้อผิดพลาดของ Forward อีกที โดยเป็นสัญญาซื้อ-ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ใน ‘อนาคต’ เหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่ Futures มี ‘ตลาด’ ที่สามารถ ‘ขายต่อ’ สัญญาได้ ก่อนถึงวันส่งมอบสินทรัพย์ รวมทั้งมีหน่วยงานกลางเข้ามาช่วย ‘ควบคุม’ ดูแลการทำสัญญานี้ ซึ่งจะช่วยรับประกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาได้ด้วย

ด้วยเหตุนี้ Futures จึงมีค่าธรรมเนียม หรือเงินประกันในการทำสัญญา ซึ่งจะเก็บจากผู้ทำสัญญาทั้ง 2 ฝ่าย และจะ ‘ยึดเงิน’ ประกันกับฝ่ายที่ผิดสัญญา ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยลดความเสี่ยง ไม่ให้เกิดการทำผิดสัญญาขึ้น

3. Options

เป็นการทำสัญญาที่ทำให้ ‘ผู้ซื้อ’ Options มี ‘สิทธิ์’ ที่จะซื้อหรือขายสินทรัพย์ใน ‘ราคา’ ที่ต้องการใน ‘อนาคต’ ตามสัญญาที่ตกลงไว้ (ว่าจะซื้อหรือจะขาย) โดยผู้ซื้อ Options สามารถใช้สิทธิ์ซื้อหรือขายสินทรัพย์นั้นได้ก่อนที่สัญญาจะหมดอายุ หรืออาจจะไม่ใช้สิทธิ์ซื้อ-ขายนี้เลยก็ได้

โดยหลักการมีอยู่ว่า ผู้ซื้อจะต้องจ่ายค่าซื้อสิทธิ์ให้แก่ผู้ขาย เรียกว่า ‘Premium’ และผู้ขายต้อง ‘ทำตามสัญญา’ นั้นกล่าวคือ หากผู้ซื้ออยากขายสินค้าให้ ก็ต้องรับซื้อสินค้านั้น หรือถ้าผู้ซื้อต้องการซื้อสินค้านั้น ผู้ขายก็ต้องขายให้ จนกว่าสัญญาจะหมดอายุลง

Options จึงถือเป็นการลงทุนที่มีความ ‘ยืดหยุ่น’ ค่อนข้างสูง เพราะให้ ‘ทางเลือก’ แก่ผู้ซื้อสัญญาได้มากกว่า เช่น ผู้ซื้อทำสัญญาว่าจะซื้อสินค้า X แต่หากผู้ซื้อมองว่าการไม่ใช้สิทธิ์ (ซื้อ) จะขาดทุนน้อยกว่า ก็เลือกที่จะไม่ซื้อตามสัญญาที่ให้ไว้ได้ หรือหากจะได้กำไรจากการซื้อ ก็ใช้สิทธิ์ซื้อได้ทันทีที่ต้องการ และหากผู้ซื้อเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิ์ ก็แค่เสียเงินที่จ่ายเพื่อซื้อสิทธิ์ในตอนแรกไป (Premium) ซึ่งมักมีมูลค่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับมูลค่าการซื้อขายที่จะเกิดขึ้นจริง

4. Swap

ถือเป็นเครื่องมือที่มักถูกใช้เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในการกู้ยืมเงินต่างประเทศ ผู้ลงทุนใน Swap จึงเป็นผู้ที่มีกิจการ หรือต้องการไปลงทุนในต่างประเทศซะเป็นส่วนใหญ่

โดย Swap เป็น ‘ธุรกรรม’ แลกเปลี่ยนเงินสองสกุลในตลาดแบบทันที (Spot) โดยมีข้อตกลงว่าจะแลกเงินกลับในอนาคต หรือก็คือการทำสัญญาที่จะแลกเปลี่ยน ‘เงิน’ กันในตอนนี้ และมีสัญญากำหนดเวลาที่จะแลกเงินสกุลเดิมของตนกลับคืนมาในอนาคต

สุดท้ายไม่ว่าจะเลือกลงทุนในอนุพันธ์ประเภทไหนต้องอย่าลืมว่า การลงทุนมีความเสี่ยง! หากสนใจลงทุน ควรหาความรู้ และทำความเข้าใจหลักการของการลงทุนนั้น ๆ ให้ดีเสียก่อน รวมถึงติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อให้เราเรียนรู้ที่จะ ‘คาดการณ์’ ให้เป็น ไม่ใช่ ‘คาดเดา’ แบบไม่มีทิศทาง