หรือผ่านเข้ารอบลึก ๆ ยิ่งยากเข้าไปอีก
ยิ่งถ้าเลือกสมัครงานกับบริษัทที่มีผู้สมัครจำนวนมาก การแข่งขันก็ย่อมสูงตามไปด้วย และยังต้องผ่านขั้นตอนกระบวนการคัดเลือกอีกหลายด่าน ซึ่งหากผ่านไปได้ก็คงแฮปปี้ที่ได้ทำงานในฝัน แต่ถ้าตกรอบนี่สิก็อาจนำมาสู่ความผิดหวังขั้นรุนแรง ทำให้ใครหลายคนหมดความมั่นใจจนรู้สึกไร้ค่า และไม่กล้าไปสมัครงานใหม่ที่ไหนอีกเลยก็เป็นได้
แต่การที่โดนปฏิเสธ ไม่ได้แปลว่าเรามันแย่ หรือไม่เก่งพอเสมอไป แต่นั่นอาจเป็นเพราะว่าคุณสมบัติของเรายังไม่ตรงกับความต้องการของตำแหน่งที่บริษัทนั้นเปิดรับ โดยอาจจะขาดไปบางข้อแต่ดันเป็นข้อที่สำคัญนี่สิ! หรือบางคนก็อาจไม่รู้ตัวว่าที่จริงแล้วไม่ใช่ว่าเรา “ไม่ดีพอ” แต่เป็นเพราะเรา “ดีเกินไป” หรือ “overqualified” ต่างหาก ซึ่งนั่นก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่บริษัทเลือกที่จะปฏิเสธเรา เพราะกลัวว่าคุณจะเบื่องานเร็ว และจากองค์กรไปไวกว่าที่ควรจะเป็นน่ะสิ
ดังนั้นแทนที่จะจมอยู่กับความผิดหวังจากการโดนปฏิเสธ และมานั่งคาดเดาเหตุผลกันไปเองต่าง ๆ นานา สิ่งที่เราควรทำจริง ๆ คือการกลับมาตั้งหลัก แล้วคิดทบทวนว่าเราพลาดอะไรไปกันแน่ เพื่อจะได้มูฟออนจากความเสียใจ ให้ชีวิตยังก้าวเดินต่อไปได้ แม้ไม่ใช่เส้นทางที่คิดไว้แต่แรก แต่ใครจะไปรู้! บางทีเราอาจเจอเส้นทางใหม่ที่ดีกว่าเดิมก็เป็นได้...
ให้คิดซะว่ามันเป็นเรื่องปกติ ที่เราอาจเจอกับความผิดหวังได้ในทุก ๆ วันของชีวิต การโดนปฏิเสธงานก็เป็นแค่อีกความผิดหวังหนึ่งที่เกิดขึ้น เราแค่ต้องยอมรับ ปล่อยให้ตัวเองได้เสียใจ และเมื่อเสียใจจนพอแล้ว ก็ถึงเวลาลุกขึ้นมาเริ่มวันใหม่ให้ได้อีกครั้ง
ลองย้อนกลับไปดูว่า คุณมักจะถูกเรียกไปสัมภาษณ์ในตำแหน่งอะไร และในบริษัทแบบไหน รวมถึงResume อันไหนที่ใช้ยื่นสมัครงานแล้วไม่โดนปัดตก (ซึ่งแน่นอนว่าเนื้อหาข้างในต้องแตกต่างกันด้วยนะ) อะไรคือสิ่งที่เราทำได้ดี และทำได้ไม่ค่อยดีในการสัมภาษณ์แต่ละครั้ง เช่น คำตอบแบบไหนที่ได้รับความสนใจจากผู้สัมภาษณ์เสมอ คำถามไหนที่เรายังตอบได้ไม่ดีพอ หรือคำถามไหนที่โดนถามบ่อย เพราะหากเรารู้ปัญหาแล้ว ก็จะสามารถแก้ไขได้ไม่ยาก
เมื่อรู้แล้วว่าตัวเองทำพลาดในเรื่องอะไรไป ก็ต้องพยายามแก้ไขจุดอ่อนเหล่านั้นให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยการเตรียมหาคำตอบล่วงหน้าไว้ให้กับคำถามที่น่าจะโดนถามแน่ ๆ เช่น คำถามเกี่ยวกับความสนใจ ความรู้เกี่ยวกับองค์กร/บริษัท หรือความรู้เกี่ยวกับตำแหน่งงานนั้น ๆ ซึ่งถึงแม้ว่าครั้งนี้อาจจะตอบไม่ได้ และต้องรู้สึกผิดหวังอีกครั้ง แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป เพราะจะทำให้เราฉุกคิดได้ว่าเราอาจจะยังเตรียมตัวมาไม่ดีพอ และทำให้รู้ว่าตัวเองยังมีจุดบกพร่องตรงไหนอีกบ้างที่ต้องพัฒนาต่อไป
เมื่อรู้อย่างแน่ชัดแล้วว่า งานในบริษัทในฝันของเราต้องการคนที่มีคุณสมบัติอะไรบ้าง หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ รู้ว่าองค์นั้นต้องการคนที่มี “สเปค” แบบไหน สิ่งที่เราต้องทำก็คือ การพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง และกลายเป็นคนที่ตอบโจทย์ความต้องการ หรือตรงตามสเปคขององค์กรนั้นมากที่สุด
หลังจากผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ก่อนหน้านี้มาได้แล้ว ก็ถึงเวลาที่เราต้องเตรียมใจให้พร้อมเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง และแน่นอนว่าเราคงหลีกเลี่ยงความรู้สึกคาดหวังไม่ได้ ซึ่งนั่นก็ถือเป็นเรื่องปกติ จงกล้าที่จะคาดหวังและลงมือทำอีกครั้ง ไม่ว่าจะต้องผิดหวังอีกกี่ครั้ง ขอให้จำไว้ว่าเราสามารถเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ เพราะทุกความผิดพลาดถือเป็นบทเรียนอันล้ำค่าที่จะช่วยสอนให้เรากลายเป็นคนที่ดีกว่าเดิมได้
เพราะ “ความผิดหวัง” ไม่ได้เป็นการบ่งบอกถึงตัวตนที่ไร้ความสามารถเสมอไป เพียงแค่เราอาจจะยังไม่ใช่สำหรับงานนั้นในตอนนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่ใช่ตลอดไป จงอย่าปล่อยให้ความผิดหวังไม่กี่ครั้งมาขัดขวางเส้นทางของเรา แต่จงเปลี่ยนมันให้เป็นพลังฮึดสู้ที่จะทำให้เราเข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้นไปอีกขั้น
ทุกอย่างย่อมมีจังหวะเวลาที่ลงตัวของมันเสมอ งานนี้อาจจะยังไม่ได้ แต่ก็ยังมีงานหน้าให้ได้เข้าไปลอง เพราะ “เมื่อประตูบานหนึ่งปิดลง ประตูอีกบานหนึ่งจะเปิดขึ้นเสมอ” - Alexander Graham Bell กล่าวไว้