career


อย่าพึ่งซื้อกองทุน! ถ้ายังไม่รู้จัก Fund fact sheet


คุณคงเคยได้ยินใช่ไหมว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน” ยิ่งใครคิดจะลงทุนในกองทุนก็ควรแวะมาอ่าน fund fact sheet กันสักนิด แต่นักลงทุนส่วนใหญ่โดยเฉพาะมือใหม่กลับมองข้ามสิ่งนี้ไป เพราะคิดว่าอ่านยาก เสียเวลานาน

แถมไม่รู้ว่าอ่านไปแล้วได้อะไรอีกต่างหาก!

ถ้าใครเจอปัญหานี้อยู่ ลองมาดูวิธีการอ่าน fund fact sheet แบบ step by step ที่จะช่วยให้คุณเห็นข้อมูลสำคัญแบบตรงจุดเน้น ๆ ไม่อ้อมค้อม จะได้รู้ว่ากองทุนนี้น่าสนใจและเหมาะกับสไตล์การลงทุนของเราจริง ๆ หรือไม่

วิธีอ่าน Fund fact sheet แบบง่าย ๆ ทำตามได้ step by step

ส่วนแรกที่ต้องรู้:

  • จัดทำ ณ วันที่เท่าไหร่?

ให้ดูที่หน้าแรกด้านมุมขวาบน

  • รู้ว่ากำลังลงทุนในกองทุนประเภทไหน?

เช่น ตราสารทุน ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ และอื่น ๆ

  • สรุปนโยบายการลงทุน

ส่วนที่สองที่ต้องมอง:

  • กลยุทธ์การลงทุนของกองทุน

เป็นแบบ Active management หรือ Passive management โดยความแตกต่างของทั้งสองแบบคือ การลงทุนแบบ Active จะเอาชนะดัชนีชี้วัด (Benchmark) ในขณะที่การลงทุนแบบ Passive จะเคลื่อนไหวใกล้ดัชนีชี้วัด

  • กองทุนนี้เหมาะกับกลุ่มไหน รวมถึงคำเตือนต่าง ๆ

เพื่อย้ำให้แน่ใจอีกรอบว่ากองทุนนี้เหมาะกับเราหรือไม่

  • ความเสี่ยงของกองทุน

โดยปกติจะมีการจัดอันดับตั้งแต่ระดับความเสี่ยงต่ำ (หมายเลข 1) ไปยังระดับความเสี่ยงสูงมากอย่างมีนัยสำคัญ (หมายเลข 8) ถ้านักลงทุนยอมรับความเสี่ยงที่หมายเลขไหนได้แสดงว่า สามารถเลือกกองทุนที่มีความเสี่ยงหมายเลขเท่ากันหรือต่ำกว่าได้ แต่หากต้องการเลือกหมายเลขที่มีความเสี่ยงสูงกว่าระดับที่ตัวเองรับได้ นั่นหมายถึงเรากำลังลงทุนในสิ่งที่เสี่ยงเกินไป ควรต้องระมัดระวังให้มากขึ้น

ส่วนที่สามที่ต้องจำ:

  • ปัจจัยความเสี่ยงที่สำคัญ

ซึ่งแสดงความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ หรือค่า SD (Standard Deviation) จากค่าต่ำ (น้อยกว่า 5%) ไปจนถึงสูง (มากกว่า 25%) เป็นตัวบ่งบอกช่วงราคาที่สามารถขึ้นลงได้ว่าอยู่ที่ประมาณกี่ % และหุ้นที่อยู่ในกองทุนนี้เป็นแบบไหน มีความเสี่ยงต่ำหรือสูง โดยความเสี่ยงในการกระจุกตัว มีตั้งแต่ระดับต่ำ (น้อยกว่าหรือเท่ากับ 10%) ไปจนถึงสูง (มากกว่า 80%)

  • สัดส่วนสินทรัพย์ที่ลงทุน

กองทุนนี้ประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมอะไรบ้าง ในสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ โดยในเอกสารจะมีบอกหุ้นที่กองทุนนี้ไปลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรกจากสัดส่วนการลงทุนทั้งหมดให้อีกด้วย

ส่วนที่สี่ที่ต้องคิด:

  • ค่าธรรมเนียมการลงทุน

ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่

  1. ค่าธรรมเนียมเรียกเก็บจากตัวกองทุน: เป็นค่าการจัดการ ค่าดูแลผลประโยชน์ และอื่น ๆ โดยคิดเป็น % ต่อปีของ NAV โดยจะถูกคำนวณแล้วหักออกทุกวัน ก่อนจะมาเป็น NAV ให้ซื้อขายกัน
  2. ค่าธรรมเนียมการซื้อ ขาย สับเปลี่ยนกองทุน โดยเก็บจากนักลงทุนโดยตรง จะเกิดขึ้นเมื่อมีการทำรายการต่าง ๆ

ส่วนที่ห้าที่ต้องเน้น:

  • ผลการดำเนินงานในอดีต

ให้ดูผลการดำเนินงานเทียบกับ Benchmark ที่แสดงผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี 3 ปี 5 ปี และ 10 ปี โดยผลตอบแทนที่ได้ขึ้นอยู่กับกองทุนว่าเป็นแบบ Active หรือ Passive ตามที่ได้บอกไปในส่วนที่สอง แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ ในกรณีของกองทุนแบบ Passive คนจะคิดว่าตัวเลขต้องตรงดัชนี แต่ที่จริงแล้วมันจะลดหลั่นกันไป เนื่องจากมีการคิดค่าธรรมเนียมด้วย ทำให้ผลตอบแทนออกมาไม่เท่ากัน

ส่วนที่หกที่พลาดไม่ได้:

  • ข้อมูลในการซื้อขายกองทุน

ซึ่งช่วยบอกรายละเอียดต่าง ๆ ที่เราควรรู้อาทิ วัน เวลาเปิดปิด ช่องทางการซื้อขาย มูลค่าการซื้อขายครั้งแรก และขั้นต่ำในการซื้อขายครั้งต่อไป โดยต้องดูส่วนนี้ให้สอดคล้องกับเงินลงทุนที่ตัวเองมีด้วย

แม้ว่าตอนแรกมันอาจจะยาก หรือใช้เวลาทำความเข้าใจนานหน่อย แต่ถ้าเรามีความตั้งใจ หมั่นศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมอยู่เรื่อย ๆ อีกไม่นานเราก็จะคล่องไปเอง สิ่งสำคัญก็คือ เราต้องไม่ท้อและฝึกอ่านข้อมูลใน Fund fact sheet บ่อย ๆ เพียงเท่านี้เราก็จะเจอเส้นทางการลงทุนที่ใช่สำหรับตัวเองได้ในที่สุด