career


EP.2 Burnout Syndrome เมื่อไฟหมดแต่งานยังอยู่


“หนักเอาเบาสู้” “รักงานยิ่งชีพ” “ไม่ไหวบอกไหว” ต่อให้เหนื่อยแค่ไหนก็ยังฝืนทำต่อ นี่แหละคติการใช้ชีวิตของเรา! #ชมรมคนรักงาน ต้องมาแล้ว... ไม่ผิดหรอกที่จะเป็นคนขยัน ออกจะน่าชื่นชมด้วยซ้ำ

แต่เดี๋ยวก่อน! นี่เราเป็นคนนะไม่ใช่หุ่นยนต์ ถ้าทำงานหนักขนาดนี้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานก็อาจน็อคได้เหมือนกันนะ เพราะชีวิตเราไม่ได้มีแต่งาน งาน งาน 24 ชั่วโมงสักหน่อย แถมการทำงานหนักเกินไปอาจส่งผลเสียต่อตัวเราในระยะยาวทั้งด้านสุขภาพ อารมณ์ จิตใจ และความสัมพันธ์กับคนรอบข้างอีกด้วย นำไปสู่ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) ได้ในที่สุด ว่าแต่โรคนี้คืออะไร เป็นยังไงลองมาดูกันเลย

อาการของภาวะ Burnout Syndrome

ลองดูเช็คลิสต์ด้านล่างนี้เพื่อสังเกตดูว่าคุณหรือคนรอบข้างกำลังอยู่ในภาวะหมดไฟรึเปล่า

  • มีความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ ไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน รู้สึกหมดหวัง ไม่มีพลัง
  • เริ่มคิดลบกับตัวเองบ่อยขึ้น ขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่เชื่อว่าตัวเองจะทำสำเร็จ
  • นอนไม่หลับบ่อยครั้ง
  • ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดหัวถี่ขึ้น
  • ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ขาดงานบ่อย เริ่มคิดเรื่องลาออก
  • ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างในที่ทำงานไม่เหมือนเดิม เริ่มตีตัวออกห่างจากเพื่อนที่ทำงาน

สาเหตุของโรคเกิดจากอะไร

ภาวะหมดไฟเป็นอาการผิดปกติที่เกิดจากการทำงาน (Occupational Phenomenon) ที่องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้ให้นิยามอาการของโรคนี้ไว้ว่า “เป็นอาการป่วยที่มีผลมาจากความเครียดเรื้อรังในสถานที่ทำงาน และควรได้รับการดูแลจากแพทย์ก่อนรุนแรงและคุกคามการใช้ชีวิต” ดังนั้นอาการภาวะหมดไฟจึงไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ที่จะมองข้ามไปได้ เพราะยิ่งทิ้งไว้นานอาจลามไปถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าได้ ส่วนสาเหตุของโรคเกิดจาก...

  • ภาระงานที่หนัก ปริมาณงานที่มากเกินไป
  • ความกดดันในที่ทำงาน ต้องแบกรับความคาดหวังที่สูงเกินกว่าที่ตัวเองจะรับไหว
  • มีปัญหาในการจัดลำดับความสำคัญของงาน
  • ขาดอำนาจในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ รู้สึกไร้ตัวตนในที่ทำงาน ไม่ได้รับการยอมรับจากทีม
  • ไม่ได้รับความยุติธรรม การตอบแทนหรือรางวัลที่สมควรได้รับจากการทุ่มเททำงานหนัก
  • ระบบการบริหารงานในองค์กรขัดต่อค่านิยม ทัศนคติ ความเชื่อในการใช้ชีวิตของตนเอง

แล้วจะรักษาภาวะหมดไฟยังไง

อาการหมดไฟเป็นโรคที่เกิดจากสภาพจิตใจที่ตึงเครียดจากการทำงานหนักสะสมติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่ได้หยุดพัก ดังนั้นวิธีป้องกันไม่ให้ตัวเองเข้าสู่ภาวะหมดไฟได้ดีที่สุดคือ การจัดสมดุลให้ชีวิตทั้ง 3 ด้านคือ สุขภาพ ความสัมพันธ์ และจิตใจ ไม่โหมงานหนักจนสุขภาพแย่ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการนอนและการทานอาหาร ลองหาเวลาไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศใหม่ ๆ สร้างความสดชื่นด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หาที่ปรึกษาสักคนไว้ระบายความอึดอัดในใจ และหัดขอความช่วยเหลือจากคนอื่นเมื่อจำเป็น ไม่ต้องอดทนแบกรับเรื่องทุกอย่างไว้คนเดียวซึ่งจะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ของคุณกับคนรอบข้างไปด้วย เพราะการแบกโลกไว้คนเดียวไม่เคยทำให้โลกดีขึ้น

เชื่อว่าหลายคนที่อ่านมาถึงตรงนี้คงพอเห็นภาพแล้วว่าโรค Burnout Syndrome นั้นคืออะไรและส่งผลเสียต่อชีวิตของเราได้ขนาดไหน หากคุณมีคนรู้จักที่สงสัยว่ากำลังอยู่ในภาวะหมดไฟ ลองแชร์บทความนี้ไปให้เพื่อนของคุณ แล้วชวนเค้าออกไปเที่ยวเล่นเปลี่ยนบรรยากาศดูดีไหม