career


ใครกำลังคิดว่าตัวเองเก่ง..ต้องอ่าน!


ไม่แปลกที่ใครหลายคนจะชอบอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำให้ตัวเองสบายใจ และชอบหลีกหนีอุปสรรคมากกว่าเผชิญหน้ากับมันโดยตรง เพราะลึก ๆ แล้วเราต่างรู้ดีว่าการอยู่ในสังคมที่มีแต่คนเห็นต่าง หรือมีความคิดไม่ตรงกัน มีแต่จะนำความขัดแย้งและเรื่องปวดหัวมาให้คิดไม่ตกจนนอนไม่หลับอยู่บ่อยครั้ง

แต่การที่เราปิดกั้นความเห็นต่าง ไม่ยอมรับฟังเสียงโต้แย้งจากคนอื่นเลยแม้แต่น้อย และเลือกที่จะอยู่ภายในวงล้อมของคนที่สนับสนุนเราเท่านั้น ก็อาจนำมาซึ่งหายนะอันใหญ่หลวงได้เช่นกัน โดยหายนะที่ว่าก็คือ การสร้างอคติต่อคนอื่น เพราะคิดว่าความคิดของตัวเองถูกต้องที่สุด โดยไม่ได้พิจารณาถึงพื้นฐานความเป็นจริงในด้านอื่น ๆ อย่างถี่ถ้วน หรือถ้าใครเป็นหนักมาก ๆ เข้า ก็อาจถึงขั้นเป็น “โรคคิดว่าตัวเองเก่ง” ได้

อาการที่หลงคิดว่าตัวเองเก่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการอีกอย่างว่า “Dunning-Kruger effect” หรืออธิบายง่าย ๆ ก็คือ การที่คนที่มีความรู้น้อยสุดกลับหลงคิดว่าตัวเองรู้มากที่สุด ซึ่งมักเกิดขึ้นกับคนที่เก่งหรือเชี่ยวชาญเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง แต่ไม่ได้คิดว่าประสบการณ์ที่มีอยู่นั้นอาจใช้ไม่ได้แล้ว หรือกับคนที่มีความมั่นใจและเชื่อมั่นในอุดมคติของตัวเองมากเกินไป เรียกได้ว่าทำเป็นเก่งไปสอนคนอื่น ในขณะที่ตัวเองยังมีความเชื่อที่ผิด ๆ อยู่เลย

ไม่อยากตกหลุมพรางเป็น “โรคคิดว่าตัวเองเก่ง” ทั้งที่จริง ๆ ไม่ใช่ทำยังไงดี

เคยได้ยินใช่ไหมว่าถ้าหนามยอกต้องเอาหนามบ่ง วิธีแก้อาการ Dunning-Kruger effect หรือโรคคิดว่าตัวเองเก่งก็เช่นกัน ถ้าเริ่มรู้ตัวแล้วว่า เราชักจะเหลิงไปกับเสียงเยินยอรอบข้าง จนรู้สึกเหมือนว่าเรานี่แหละเก่งสุดแล้ว ใครก็เทียบไม่ได้ (ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจจะเก่งแค่ในความคิดของตัวเองคนเดียว) ก็คงต้องถึงเวลาดึงสติกลับมา แล้วให้ไปคิดว่าเรายังดีไม่พอหรอก หรือเป็น “โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง” แทน

แต่จู่ ๆ ใครจะไปคิดถึงตัวเองในแง่ลบแบบนั้นกัน คิดแล้วเสียกำลังใจหมดจริงไหม?

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการอยู่ในสังคมที่คอยสนับสนุนเราตลอดเวลาทุกย่างก้าว ไม่ว่าจะทำอะไรอาจไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป แม้เสียงสนับสนุนจากคนรอบตัวอาจทำให้เรามีกำลังใจดี แต่ก็เปรียบเหมือนดาบสองคมที่ทำให้เรามั่นใจในตนเองมากเกินไปจนถึงขั้นหลงคิดว่าตัวเองเก่งได้ ในขณะที่การอยู่ในสังคมที่มีคนเห็นต่างจากเราอาจไม่ได้เป็นเรื่องแย่เสมอไป หากเราพร้อมเปิดใจรับฟังด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่เข้าข้างตัวเองจนลืมมองเหตุผลและความเป็นจริงรอบข้าง ก็จะทำให้เราตระหนักถึงจุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไขจากการว่ากล่าวตักเตือนหรือทักท้วงของคนอื่นได้

การเป็น “โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง” จึงอาจนำไปสู่การ “เติบโต” ของเราในแง่ต่าง ๆ มากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะ...

  1. เมื่อคิดว่าตัวเองไม่มีความเชี่ยวชาญมากพอ ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาตนเองเพื่อให้เก่งขึ้น
  2. ช่วยเปิดมุมมองในการทำงานใหม่ ๆ ทำให้รู้จักปรับตัวเข้ากับสังคมได้อย่างชาญฉลาดมากขึ้น
  3. กล้าที่จะ “Unlearn” ยอมทิ้งในสิ่งที่เคยเรียนรู้มาก่อนหน้านี้ หากเห็นว่ามีวิธีการอื่นที่ใช้แล้วดีกว่าจริง

ดังนั้นหากเรายังอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่คนสนับสนุนความคิดของเรา หรือสังคมที่ support เราสุดตัวในทุกเรื่องแบบไม่ลืมหูลืมตาที่หลายคนมองว่าดี ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะมองเห็นข้อผิดพลาดในตัวเองได้อย่างแท้จริง แต่ถ้าเราลองเปิดใจรับฟังเสียงเห็นต่างที่อาจฟังดูไม่เข้าหูในตอนแรก มาคิดไตร่ตรองอย่างจริงจังแล้วล่ะก็ บางทีอาจจะเจอคำแนะนำดี ๆ ซ่อนอยู่ที่จะช่วยให้เราหลุดออกจากกรอบความคิดเดิม ๆ ที่มีอยู่ พร้อมก้าวข้าม และเติบโตกลายเป็นตัวเราที่ดีขึ้นกว่าเดิมในอนาคตได้