career


EP.3 เอาล่ะ!..ฉันจะออกแล้วนะ


เมื่อคุณตัดสินใจก้าวเท้าย่างขึ้นเรือเพื่อไปผจญกับพายุและคลื่นยักษ์ในทะเลอันเวิ้งว้าง (ใครอ่านแล้วงง ว่าพูดถึงอะไร ลองกลับไปอ่านใน EP.2 ก่อนนะ) เรามีสิ่งที่อยากให้คุณรู้ไว้ และปรับ Mindset เสียใหม่ ก่อนกระโดดออกจาก Comfort Zone ดังนี้

1. นิยาม “ความเครียด” เสียใหม่
ในทางจิตวิทยา “ความกังวล” และ “ความตื่นเต้น” แทบจะไม่ได้มีความแตกต่างกันเลย ทั้งสองอย่างเป็นการตอบสนองต่อความเครียดที่เจอเหมือนกัน แต่เราแค่มองความกังวลเป็นความรู้สึกในแง่ลบ ขณะที่มองความตื่นเต้นเป็นความรู้สึกในแง่บวก


“ความเครียด” (Stress) ก็เช่นกัน มักถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่เหรียญมีสองด้านเสมอ เพราะเมื่อมีความเครียดที่เป็นแง่ลบ ก็มีความเครียดที่เป็นแง่บวกเช่นกัน ที่เรียกกันว่า “Eustress” ซึ่งเป็นความเครียดที่ทำให้เรารู้สึกดี ทำให้มีพลังงานบางอย่างออกไปทำสิ่งที่ท้าทายตัวเอง เช่น พูดในที่สาธารณะ ออกไปเดทกับคนที่แอบเล็งมานาน เป็นต้น เจ้าความเครียดแบบนี้แหละที่จะดึงตัวเราออกจาก Comfort Zone ได้



2. เข้าใจ “ความยืดหยุ่นของสมอง” (Neuroplasticity)
เรามักจะมีความเชื่อในอดีตที่ผ่านมาเกี่ยวกับสมองว่า คนเราเกิดมาเช่นไรก็เป็นเช่นนั้น ศักยภาพของสมองก็เช่นกัน เมื่อฟ้าลิขิตมาแล้วว่าให้ถนัดแบบนี้ก็คงเก่งแค่เรื่องนี้เรื่องเดียว เรื่องอื่นเราคงไม่ถนัดและทำไม่ได้ แต่! นั่นอาจเป็นการด่วนตัดสินใจเกินไปหน่อย หากคุณยังไม่ได้รู้จัก “Growth Mindset” แนวคิดที่แพร่หลายเป็นอย่างมากในปัจจุบันที่เชื่อว่า สมองของเราสามารถเปลี่ยนแปลง เติบโต และเรียนรู้ได้ หากเราตั้งใจที่จะทำมันจริง ๆ

เช่นเดียวกับการมองว่า “ความล้มเหลว” เป็นเรื่องน่าอายที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น หากคิดจะโดดออกจาก Comfort Zone จริง ๆ คุณก็ต้องให้นิยามความล้มเหลวเสียใหม่เช่นกัน เพราะความล้มเหลว ผิดพลาด หลงทางล้วนเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของเส้นทางไปสู่ Growth Zone ที่จะทำให้คุณเติบโตได้อย่างสมบูรณ์

นักประสาทวิทยาที่ศึกษาการทำงานของสมองกล่าวว่า สมองของเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดชีวิต เส้นประสาทในสมองรู้จักที่จะปรับตัว เติบโต และงอกขึ้นมาใหม่ได้ นั่นก็คือศักยภาพความยืดหยุ่นของสมอง ที่อยากให้คุณเข้าใจและใช้ชีวิตให้ยืดหยุ่นไปพร้อมกับมัน


3. จัดลำดับความสำคัญเสียใหม่

จริงอยู่ที่ว่าการอยู่ใน Comfort Zone อาจไม่ใช่เรื่องเสียหายเสมอไป แต่ในขณะที่คุณเลือกที่จะอยู่ในพื้นที่อบอุ่นแสนสบายไปเรื่อย ๆ คนอื่นที่เลือกออกไปเสี่ยงล้มลุกคลุกคลานข้างนอกก็อาจค้นพบหนทางใหม่ที่ทำให้ชีวิตน่าสนใจไปอีกขั้น รู้ตัวอีกทีเราอาจจะมานั่งนึกเสียใจทีหลังว่าทำไมตอนนั่นเราไม่ทำแบบเขาบ้างนะ?

อย่างที่ใครหลายคนคงรู้ดีว่า “รู้อะไรก็ไม่เท่ารู้งี้” เป็นประโยคที่มานั่งนึกเสียดายทีหลังตอนที่ย้อนกลับไปทำอะไรไม่ได้แล้ว บางครั้งการอยู่ใน Comfort Zone นาน ๆ ก็อาจเป็นผลเสียมากกว่าดีเช่นกัน การเลือกที่จะไม่เสี่ยงอะไรเลยก็อาจเป็นความเสี่ยงที่สุดเช่นกัน ดังนั้นลองจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่คุณต้องการให้ดี แล้วคิดให้ดีว่าหากยังอยู่ใน Comfort Zone ต่อไปจะสามารถบรรลุเป้าหมายนั้นได้หรือไม่


4. เริ่มต้นที่ก้าวเล็ก ๆ
มันโอเคอยู่นะถ้าเราจะค่อย ๆ ก้าวออกไปทั้ง ๆ ที่กลัวแบบนั้น การออกจาก Comfort Zone ไม่ได้หมายความว่าให้คุณโดดออกไปอย่างคนกล้าบ้าบิ่น ไม่ต้องสนใจคำเตือนหรือเรื่องที่ต้องระมัดระวังไปโดยสิ้นเชิง


ในทางตรงข้ามเราอยากให้คุณมีสติในทุก ๆ ก้าวย่างการกระทำของตัวเอง คุณอาจเจออุปสรรคที่ทำให้จิตใจหวั่นไหวจนอยากโดดกลับเข้าไปใน Comfort Zone อีกครั้ง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด อย่างที่เคยบอกไปว่าการก้าวข้ามจาก Comfort Zone ไปสู่ Growth Zone อาจไม่ใช่การเดินทางที่เป็นเส้นตรงเสมอไป


คุณอาจกระโดดกลับไปกลับมาระหว่าง Comfort Zone กับ Fear Zone กว่าจะผ่านไปถึง Learning Zone ได้ แต่ก็ยังดีกว่าการหยุดนิ่งอยู่กับที่ที่ทำให้คุณไม่ได้สัมผัสรสชาติการเติบโตของชีวิตระหว่างทางอันหลากหลาย สิ่งสำคัญที่อยากให้รู้ไว้ก็คือ ทุกก้าวย่างที่ตัดสินใจทำลงไปนั้น แม้จะดีบ้าง ไม่ดีบ้าง แต่นั่นก็ถือเป็นความก้าวหน้าไปอีกขั้นแล้ว


มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะเริ่มรู้สึกคันไม้คันมืออยากโดดออกมาจาก Comfort Zone ของตัวเองบ้างแล้วจากการโดนปลุกใจให้ฮึกเหิมพร้อมรบ! ถ้าอย่างนั้นมาติดตามวิธีง่าย ๆ ที่คุณเองก็ทำตามได้ไม่ยาก หากอยากออกจาก Comfort Zone ได้ในตอนต่อไป EP.4 ออกมาแล้วก็จงวิ่งต่อไป...อย่าได้หยุด!