career


EP.1 ฉันอยู่ใน Comfort Zone รึเปล่านะ?


“All growth starts at the end of your comfort zone.” Tony Robbins ได้กล่าวไว้ (ทุกการเติบโตเริ่มต้นที่การก้าวออกมาจาก Comfort Zone) แล้วคุณล่ะเชื่อไหม? การอยู่ในที่เดิมที่ทุกอย่างลงตัวอยู่แล้ว เราสามารถจัดการทุกอย่างได้อย่างลงตัว ไม่มีปัญหา

รับมือได้ทุกเรื่องสบายมาก! แบบนั้นก็ดีอยู่แล้วไม่ใช่หรอ? เชื่อว่าหลายคนคงคิดแบบนี้และตัดสินใจทิ้งโอกาสที่จะลอง เริ่ม เรียนรู้สิ่งใหม่ไปในตัว

แน่นอนว่าการคิดแบบนั้นไม่ได้ผิด ในเมื่อถ้าเราสบายใจกับสิ่งที่เราเป็นอยู่ดีอยู่แล้ว การเลือกอยู่ในจุดที่เราสบายใจก็ไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าโลกเราเปลี่ยนไปทุกวัน มีสิ่งใหม่เกิดขึ้น มีการพัฒนา และปรับเปลี่ยนไปในทุกวัน บางทีการเลือกไม่เสี่ยงอะไรเลย ก็อาจเป็นความเสี่ยงที่มากที่สุดก็เป็นได้!

ในทางจิตวิทยา Judith Bardwick ได้ให้นิยามของคำว่า “Comfort Zone” เอาไว้ในงานเขียนของเธอเรื่อง Danger in the Comfort Zone ว่า เป็นสภาวะทางจิตอย่างหนึ่งที่ต้องการรักษาความกังวลภายในจิตใจให้อยู่ในระดับสมดุล ไม่ตึงเครียดหรือรู้สึกวิตกกังวลมากเกินไป จึงแสดงออกเชิงพฤติกรรมแบบคงที่ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทั้งหลายไม่ให้มาคุกคามชีวิตปกติของตน

ว่าง่าย ๆ เลยก็คือ คนเรามักชอบอยู่ใน Comfort Zone ก็เพราะเรารู้สึกปลอดภัย ไม่เป็นอันตราย ไม่ต้องรู้สึกกลัวหรือกังวลใจให้จิตตก คิดมากไปต่าง ๆ นานา ก็อยู่ที่เดิมตรงนี้เราควบคุมทุกอย่างได้ตามใจนึกอยู่แล้วนี่นา จะออกไปให้ลำบากทำไม?

แต่บางครั้งความสบายที่เป็นอยู่ ก็ไม่ได้สร้างแรงจูงใจให้คนเราสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ หรือคิดปรับปรุงความสามารถ ขัดเกลาทักษะที่ตัวเองมีอยู่ให้ดีกว่าเดิม และอาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ไม่เกิดการพัฒนาอะไรเลย

ในปี 1907 คุณ Robert Yerkes และ John Dodson ได้ทำการทดลองหาความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันระหว่างความกังวลและความสามารถ (ต่อมาเรียกว่า The Yerkes-Dodson Law) โดยใช้หนูทดลองเป็นตัวอย่าง ซึ่งพวกเขาค้นพบว่าหนูทดลองที่ถูกกระตุ้นด้วยการช็อตไฟฟ้า มีแรงจูงใจที่จะหาทางออกจากเขาวงกตมากกว่าหนูที่ไม่โดนช็อต แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งพวกมันก็เริ่มที่จะหาทางหนีหรือหลบซ่อนตัวมากกว่าที่จะหาทางออกจากเขาวงกต

เมื่อลองกลับมามองในเชิงพฤติกรรมของมนุษย์ก็จะพบว่า นี่มันเป็นสิ่งที่ make sense! ที่สุด เพราะเมื่อคนเราถูกกระตุ้นด้วยความกลัว ทำให้เกิดความรู้สึกไม่แน่นอน กังวลใจ นั่งไม่ติดคิดไม่ตก ตัวเลือกที่เรามีในการตอบสนองต่อสถานการณ์ดังกล่าวก็น่าจะมาจาก 1 ใน 3 ทางนี้นั่นก็คือ

1. Fight: สู้กับปัญหา เผชิญหน้ากับความกลัวให้รู้ดำรู้แดงไปข้าง
2. Flight: หนีดีกว่า ชิ่งได้ชิ่ง เลี่ยงได้เลี่ยง ถือคติรู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี
3. Freeze: ชะงักกึก ช็อคไปพักหนึ่ง สับสนงุนงงจนทำอะไรไม่ถูก เลยขออยู่นิ่ง ๆ สักแปป

ตาม Yerkes-Dodson Law พบว่าระบบประสาทของคนเราสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 โซนเมื่อถูกกระตุ้นด้วยสิ่งที่ทำให้เกิดความกังวล

โซนที่ 1: หากถูกกระตุ้นน้อย เราก็จะอยู่ใน Comfort Zone ที่ค่อนข้างน่าเบื่อ
โซนที่ 2: หากถูกกระตุ้นด้วยความกังวลในระดับพอดี ๆ ก็จะทำให้มีแรงจูงใจในการทำงานให้ออกมามีประสิทธิภาพสูงสุด
โซนที่ 3: หากถูกกระตุ้นมากเกินไป เราก็จะอยู่ใน Panic Zone ที่ทำให้ความสามารถในการทำงานเราตกลงได้เช่นกัน

ดังนั้นถ้าจะให้ดี การมีความกังวลหรือความกลัวอยู่ในระดับที่เหมาะสม (โซน 2) ก็จะช่วยรีดเค้นดึงเอาศักยภาพของเราออกมาได้ดีที่สุด ทำให้เรามีแรงต่อสู้กับความท้าทายที่เข้ามาได้อย่างเต็มกำลัง ถึงแม้จะรู้ว่ามันยากแต่ก็ยังมีหวังที่จะเอาชนะได้ถ้าพยายามมากพอ!

และนี่ก็คือนิยามของ Comfort Zone แบบคร่าว ๆ (แต่ลึกซึ้ง) ที่เราอยากให้คุณได้รู้จัก แล้วมาติดตามต่อใน EP.2 โดดออกมาแล้วได้อะไร? ที่ว่าด้วยเหตุผลดี ๆ ที่คุณควรโดดออกมาจาก Comfort Zone เข้าสู่ Growth Zone ซะที