career


EP.2 Quarter-life crisis วิกฤตหนึ่งในสี่


จากผลสำรวจของ LinkedIn ในกลุ่มคนทำงานอายุระหว่าง 25-33 ปี ปรากฏว่ากลุ่มคนเหล่านี้กว่า 75% กำลังเผชิญกับวิกฤตหนึ่งในสี่ของชีวิต หรือที่เรียกว่า Quarter-life crisis ซึ่งจากการวิจัยนี้ยังบอกอีกว่าคนกว่า 59% รู้สึกไม่แน่ใจว่าต้องทำอะไรต่อดีในอาชีพ

หรือในชีวิต อีก 54% บอกว่ารู้สึกสับสนเกี่ยวกับทางเลือกด้านอาชีพการงาน และอีก 49% เห็นว่ารายได้ที่พวกเขาหาได้ตอนนี้มันไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตเอาซะเลย! แล้วคุณล่ะรู้สึกแบบเดียวกันอยู่รึเปล่า?

ถ้าคุณทำงานมาได้ระยะหนึ่งแล้ว เรียกได้ว่ามีประสบการณ์ระดับหนึ่ง ไม่ใช่น้องใหม่ใสกิ๊งอีกต่อไป เริ่มรู้สึกว่าการทำงานเป็นรูทีนที่ทำอยู่ทุกวันนี้มันไม่มีอะไรแปลกใหม่ ไม่ท้าทายอีกต่อไป แถมยังกังวลว่าเงินเก็บที่มีมันพอไหมนะกับการทำตามความฝันของตัวเองอย่างซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือขอแฟนที่คบกันมานานแต่งงาน แล้วคนที่คบอยู่ด้วยตอนนี้คือคนที่ใช่ที่สุดแล้วใช่ไหม?

เรียกได้ว่าตอนนี้หลายคนเริ่มคิดถึงความสัมพันธ์กับคนรักอย่างลึกซึ้งมากขึ้นกว่าการมีความรักหวานแหววช่วงวัยรุ่นแล้ว ทำให้ถ้าไม่แต่งงานกันก็เลิกกันไปเลย สถานการณ์แบบนี้แหละที่เรียกว่า วิกฤตหนึ่งในสี่ของชีวิตที่มักเกิดกับคนในช่วงวัย 25-35 ปี เป็นช่วงที่ติดกับดักทั้งทางการงาน การเงิน และความสัมพันธ์เลยก็ว่าได้

แต่ใช่ว่าอาการสับสน เคว้งคว้าง เหมือนคนหลงทางในช่วงวัยตั้งตัวนี้จะมีคุณเป็นอยู่คนเดียวซะหน่อย ที่จริงยังมีเพื่อนร่วมชะตากรรมอีกมากที่เป็นเหมือนกัน เพียงแต่คุณไม่สังเกตเห็นเอง! เพราะแม้แต่ Adam Smiley Poswolsky ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาคนมิลเลนเนียล และผู้แต่งหนังสือ “The Quarter-Life Breakthrough” ยอมรับว่าเขาเองก็เคยเจอกับ Quarter-life crisis เช่นกัน

โดยสาเหตุหลักมาจากการเปรียบเทียบชีวิตตัวเองกับคนอื่นรอบตัวที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย และเริ่มเจ็บปวดที่เห็นคนอื่นได้ดิบได้ดี มีความสุข มีงานที่ดีทำ เป็นอายุน้อยร้อยล้านได้ในเวลาไม่นาน ในขณะที่ตัวเองยังมองไม่เห็นหนทางเจริญก้าวหน้าจากงานที่ทำอยู่ด้วยซ้ำ

เมื่อมีปัญหาก็ต้องมองหาทางออก ดีกว่าจมปลักอยู่กับมันไปตลอดจริงไหม?

สำหรับผู้ที่ตกอยู่ท่ามกลางวิกฤต 1 ใน 4 ของชีวิต คุณ Adam Smiley Poswolsky ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า อย่างแรกเลยเลิกเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น แล้วตั้งคำถามกับตัวเองว่า งานที่มีคุณค่าสำหรับเรานั้นคืออะไร เพราะการได้ทำในสิ่งที่รู้สึกว่ามีคุณค่า มีประโยชน์จะช่วยสร้างความภาคภูมิใจให้ตัวเองได้ เราไม่จำเป็นต้องไปแข่งขันกับใคร แต่จงสร้างความแตกต่างและคุณค่าในแบบของตัวเราเอง

ลองคิดใคร่ครวญถึงความฝันและเป้าหมายในชีวิตว่าเราต้องการอะไรกันแน่ แล้วเริ่มลงมือวาดแผนที่ชีวิตที่คุณออกแบบเอง อาจหลงทางและผิดพลาดบ้าง สิ่งที่ต้องโฟกัสไม่ใช่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น แต่คือบทเรียนที่ได้รับจากความผิดพลาดนั้นต่างหากว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากมัน ซึ่งดีกว่าการไม่กล้าก้าวเท้าออกจาก Comfort Zone จนกลายเป็นขังตัวเองไว้ในที่เดิม ๆ และทำงานจำเจไปตลอดชีวิต

ถ้าจะให้พูดง่าย ๆ วิกฤตหนึ่งในสี่ของชีวิตคงเป็นเรื่องของการหาอัตลักษณ์หรือตัวตนของเราเองว่า เราต้องการมีพื้นที่ยืนในสังคมแบบไหน ซึ่งเกี่ยวข้องกับอาชีพการงานที่ทำเป็นหลัก นอกจากนี้ก็มีเรื่องของความสัมพันธ์กับคนที่คบอยู่ที่อาจโดนกดดันว่าถึงวัยที่ต้องแต่งงานได้แล้ว และรายได้ที่หาได้มาเป็นปัจจัยเสริมให้รู้สึกวิตกกังวลมากขึ้น

แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าวิกฤตินี้จะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต เพราะจากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัย Greenwich ในประเทศอังกฤษบอกว่า Quarter-life crisis จะอยู่กับคนในช่วงวัยนี้แค่ประมาณ 2 ปีเท่านั้น พอผ่านพ้นไปได้คนเหล่านี้ก็จะเริ่มสร้างเส้นทางชีวิตใหม่ มีความมุ่งมั่นมากขึ้น และตั้งปณิธานกับตัวเองว่า จะเริ่มทำสิ่งใหม่ที่สะท้อนถึงค่านิยมและคุณค่าที่แท้จริงในตัวเองออกมาให้ได้สักที

วิกฤตมีอยู่ก็แค่ชั่วคราว แต่ความมุ่งมั่นมุมานะของเรามีได้ตลอดไปนะคะ ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านที่กำลังเผชิญ Quarter-life crisis อยู่!