career


EP.3 Mid-life crisis วิกฤตวัยกลางคน


จากผลสำรวจความพึงพอใจในชีวิตของผู้คนกว่า 149 ประเทศทั่วโลกที่จัดทำโดย National Bureau of Economic Research ประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า คนในช่วงวัยกลางคนที่มีอายุระหว่าง 39-57 ปี มีความสุขกับชีวิตน้อยที่สุด ถ้าเปรียบความสัมพันธ์

ระหว่างอายุกับความสุขในชีวิตของคนเราเป็นกราฟรูปตัว U การเข้าสู่ช่วงวัยกลางคนก็คือ ช่วงที่มีความสุขน้อยที่สุด (เป็นฐานตัว U) แต่เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? ในเมื่อคนในช่วงวัยนี้เรียกได้ว่าเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว เป็นช่วงที่สร้างฐานะและมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่าหลายคนในวัยนี้กำลังเจอความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัส เป็นช่วงที่เปราะบางและอ่อนไหวมาก ๆ ในชีวิต เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญในชีวิต (Midlife Transition) ซึ่งถ้าผ่านไปได้ชีวิตก็จะกลับมามีความสุขอีกครั้ง

เมื่อใช้ชีวิตมาระยะหนึ่งจนมาถึงครึ่งทางของชีวิต หลายคนจึงเริ่มคิดใคร่ครวญถึงการดำเนินชีวิตตลอดช่วงที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างที่หวังเอาไว้หรือไม่ ทั้งเรื่องความสำเร็จในชีวิต ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน การสร้างครอบครัว ความสัมพันธ์กับคู่ชีวิต ไปจนกระทั่งเรื่องทรัพย์สินเงินทอง ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ เรียกได้ว่าโลกความจริงมันสวนทางกับความคาดหวังที่ตั้งเอาไว้สูงในตอนแรก และนั่นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้คนในช่วงวัยนี้มีอาการซึมเศร้า หม่นหมอง ดูไม่มีความสุขกับสถานะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเอาซะเลย

ความกดดันจากชีวิตที่ไม่ได้เป็นไปอย่างใจหวัง การมองเห็นความสำเร็จของคนรุ่นราวคราวเดียวกันจนรู้สึกอิจฉา ถึงอย่างนั้นก็รู้สึกว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ บวกกับสุขภาพและสมรรถภาพทางร่างกายที่เริ่มเสื่อมถอยลง ไม่ฟิตเฟิร์มเหมือนช่วง 20 ต้น ๆ ก็พาลทำให้รู้สึกอ่อนแอทั้งกายและใจ เอาแต่หมกหมุ่น คิดฟุ้งซ่านถึงเรื่องราวในอดีตที่แก้ไขไม่ได้ นั่งเสียใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ รู้สึกว่าที่ผ่านมาตัวเองใช้ชีวิตได้ไม่ดีพอ ซึ่งความคิดแบบนี้อันตรายอย่างมาก เพราะมีแต่ทำให้เราจมดิ่งไปไม่มีที่สิ้นสุดจนอาจถึงขั้นคิดสั้นได้

ในทางกลับกันถ้าคิดได้ว่าการใช้ชีวิตของเราที่ผ่านมาครึ่งทางมันยังไม่ดีพอ ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำให้สำเร็จ ก็อาจเป็น ‘Turning point’ สำคัญที่ทำให้คิดได้แล้วลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนอะไรหลาย ๆ อย่างในชีวิตให้เข้าที่เข้าทางในอีกครึ่งชีวิตที่เหลือก็ได้ ดังนั้นคนที่ผ่านช่วง Mid-life crisis มาได้จึงเหมือนกราฟรูปตัว U ที่เป็นขาขึ้น ทำให้ชีวิตกลับมามีความสุขอย่างที่ควรจะเป็นอีกครั้ง

คำแนะนำสำหรับคนที่เผชิญหน้ากับวิกฤตวัยกลางคนที่ต้องหมั่นจำให้ขึ้นใจเลยคือการมี “สติ” อยู่ตลอด ยอมรับว่าตัวเองมีปัญหา ฝึกตัวเองให้คิดบวก และหัดปล่อยวางกับสิ่งที่ผ่านไปแล้ว

หากมีเรื่องที่ทำให้รู้สึกอึดอัดหรือไม่สบายใจจนเครียด นอนไม่หลับ หาทางออกไม่เจอก็อย่าเก็บไว้คนเดียว แต่ให้หันหน้าไปหาใครสักคนที่เราไว้ใจ สามารถเป็นที่ปรึกษาของเราได้ ลองเปิดใจเล่าให้เค้าฟัง และรับฟังคำแนะนำที่หวังดีของคนอื่นบ้าง ยิ่งเก็บไว้อกจะแตกตายเอาได้นะ แต่ถ้าพูดออกมาความทุกข์ของเราจะลดลงครึ่งหนึ่ง จิตใจจะสบายขึ้นเพราะอย่างน้อยก็มีคนที่อยู่เคียงข้างและเข้าใจในยามที่เรามีปัญหา

วิกฤตวัยกลางคนอาจเป็นเหมือนมรสุมใหญ่ที่พัดเข้ามาถล่มแบบไม่ทันตั้งตัว แต่เชื่อเถอะว่าถ้าเราผ่านไปได้ เราจะกลับมาแข็งแกร่งกว่าเดิม และรู้สึกว่าชีวิตต่อจากนี้ไม่มีอะไรน่ากลัวอีกต่อไปแล้ว

เมื่อพายุใหญ่พัดผ่านไป ท้องฟ้าจะกลับมาสดใสกว่าที่เคย!