ช่วงไหนควรได้พักผ่อน.. เพราะต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับบ้าน จึงทำให้หลายคนทำงานหนักจนลืมพักผ่อน หรือลืมเรื่องอื่น ๆ ที่สำคัญในชีวิตไปเสียหมด ไม่ใช่แค่นั้น การทำงานหนักยังส่งผลต่อสุขภาพกายและสภาพจิตใจต่อเนื่องเรื้อรังจนอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้เลยทีเดียว การทำงานหนักจึงไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ที่ควรมองข้าม หรือน่าชื่นชมแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องที่ควรรู้ตัว และรีบแก้ไขโดยเร่งด่วนต่างหาก
จากผลการศึกษาของ Harvard Medical School พบว่าคนที่ทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จะมีอัตราความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้นถึง 13% นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) มากถึง 33% เมื่อเทียบกับคนที่ทำงานแค่ 35-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
แม้ว่าคุณจะรักงานที่ทำมากแค่ไหน แต่การทำงานหนักมีแต่จะสร้างบาดแผลให้สภาพจิตใจของคุณบอบช้ำ การทำงานหนักต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยไม่หยุดพักผ่อนจึงมีแต่จะสร้างปัญหาทางสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นอาการซึมเศร้า หมดไฟ ความเครียด และวิตกกังวล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนบั่นทอนความสามารถและศักยภาพในการทำงานของคุณในระยะยาว และคงต้องใช้เวลาซักระยะกว่าจะฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กลับมาดีได้ดังเดิม
คนที่ทำงานหนักเกินไปมักขาดการดูแลตัวเอง โดยมักชอบอ้างว่าไม่มีเวลาจึงทำให้พฤติกรรมการกิน ดื่ม นอนหลับไม่เหมาะสมนัก จนอาจนำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือภาวะขาดน้ำ ทำให้ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลีย และอ่อนแอได้ ผลกระทบเบื้องต้นอาจะดูเล็กน้อยอย่างเกิดอาการหิวจนแสบไส้ หรือปากแห้งแตก แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานวันเข้าก็จะนำไปสู่อาการโคม่าขั้นรุนแรง หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้
ในบางรายที่ทำงานหนักไม่เลิก ก็อาจติดนิสัยชอบทานยาแก้ปวดหัวแก้ขัด รับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ดมากขึ้น ขาดการออกกำลังกาย และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าปกติ
นอกจากนี้ความเครียดจากการทำงานหนักยังส่งผลต่อคุณภาพการนอนด้วยเช่นกัน เพราะการพักผ่อนอย่างเพียงพอจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรค และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย การนอนน้อย หรือทำงานหามรุ่งหามค่ำจนโต้รุ่งบ่อย ๆ จึงส่งผลเสียโดยรวมต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ลดลง สูญเสียอาการอยากอาหาร อารมณ์แปรปรวน โกรธฉุนเฉียวง่าย เป็นต้น
แน่นอนว่าถ้ารู้ตัวว่าตัวเองทำงานหนักเกินไป และอยากเลิกเป็นมนุษย์บ้างานจริง ๆ ละก็ จะต้องรู้จักจัดระเบียบตัวเองเสียใหม่ คืนความสมดุลให้ชีวิตมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงผลเสียที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการทำงานหนักจนยากเกินเยียวยานั่นเอง
การจัดลำดับความสำคัญของงานเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นลำดับแรกตั้งแต่เริ่มต้นของวัน เพื่อให้รู้ว่าควรทำอะไรก่อนเป็นลำดับแรก และต้องทำอะไรให้เสร็จบ้างในวันนี้ รวมถึงต้องสื่อสารกับทีมให้เข้าใจตรงกันด้วยว่างานที่ได้รับมอบหมาย และผลลัพธ์ที่ต้องทำให้เสร็จในแต่ละวันคืออะไร
แม้คุณจะทำงานที่บ้าน แต่ในแต่ละวันอาจจะมีงานเข้ามามากมาย ยิ่งถ้าคุณเป็นคนที่ขี้เกรงใจ ไม่กล้าปฏิเสธใครแล้วล่ะก็ งานหนักก็อาจมากองอยู่ตรงหน้าคุณแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว จนไม่รู้ว่าจะเริ่มจากอะไรก่อนดี และจะต้องทำไปเรื่อย ๆ อีกนานแค่ไหน ดังนั้นหากไม่อยากทำให้งานหลักที่คุณรับผิดชอบซึ่งเป็นงานสำคัญจริง ๆ ต้องเสียหาย การรู้จักพูดคำว่า “ไม่” อย่างมีเหตุผลและมั่นใจจะช่วยให้คุณรอดชีวิตจากกองงานที่ท่วมท้นไปได้
การทำงานอยู่ที่บ้านอาจทำให้คนที่บ้านเข้าใจผิดได้ว่า คุณมีเวลาว่างตลอดเวลาสำหรับงานบ้าน ไปจ่ายตลาด หรือเล่นกับลูกได้เสมอ ดังนั้นคุณต้องขีดเส้นแบ่งให้ชัดเจน และบอกว่าเวลาไหนที่เป็นเวลาทำงาน และขอให้อย่ามารบกวนคุณในช่วงเวลานั้น เพื่อให้คุณมีสมาธิในการทำงานได้อย่างเต็มที่
ข้อเสียหลักที่เห็นชัดเจนจากการทำงานที่บ้านคือ การมีสิ่งเร้ารบกวนจิตใจที่ชวนให้เสียโฟกัสในการทำงานได้ง่ายเหลือเกิน ดังนั้นทางที่ดีคุณจึงควรตัดสิ่งเร้ารอบตัวออกไปให้ได้มากที่สุด อย่างเสียงแจ้งเตือนโทรศัพท์มือถือ อีเมล หรือโซเชียลมีเดีย หรือจะเอามือถือไปวางไว้ให้ไกลจากโต๊ะทำงานตอนที่ทำงานที่ต้องใช้สมาธิสูงได้ก็ยิ่งดี
คนที่ทำงานหนักหรือโฟกัสกับงานมากเกินไป มักมีนิสัยชอบลืมทานข้าว หรือทานอาหารไม่เป็นเวลาอยู่เสมอ หรือไม่บางคนก็อาจจะขี้เกียจลุกขึ้นจากโต๊ะ เลยนั่งรับประทานตรงนั้นไปซะเลย ซึ่งนั่นก็เท่ากับคุณไม่ได้มีเวลาหยุดพักกลางวันเลย เพราะแม้แต่ตอนเที่ยงคุณก็ยังเอาแต่นั่งอยู่ที่โต๊ะ
ถ้าอยากเลิกนิสัยทำงานหนักเกินไป สิ่งหนึ่งที่ต้องทำให้ได้ก็คือ การจัดพักเที่ยงให้ตัวเองได้ไปทานอาหารกลางวันที่มุมอื่นของบ้าน ที่ไม่ใช่โต๊ะทำงาน แล้วสูดอาการบริสุทธิ์ข้างนอกเสียบ้างเพื่อให้รู้สึกถึงการหยุดพักที่แท้จริง
แล้วทีนี้คุณก็จะเลิกเป็นคนทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ แบบมนุษย์ Overworking เสียที แต่ให้บอกกับตัวเองว่า งานหนักไม่ไหวอย่าฝืน...