career


มาเปลี่ยน “เป็ดริมคลอง” ให้เป็น “เป็ดทองคำ” กันเถอะ


เคยได้ยินใช่ไหมว่า รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา เรียนอะไรต้องให้รู้ลึกรู้จริง เป็นเบอร์ต้น ๆ ในวงการนั้น ๆ ไปเลย ต่อไปจะได้ไม่ลำบาก ได้เป็นเจ้าคนนายคน มีหนทางทำกินอีกยาวไกล คำพูดเหล่านี้อาจจะจริงในสมัย 40-50 ปีที่แล้ว ที่พ่อแม่มักปลูกฝังให้ลูกหลานค้นหาตัวเองให้เจอ

เร็ว ๆ ให้รู้ว่าพรสวรรค์ของตัวเองคืออะไร จะได้ส่งเสริมผลักดันไปให้สุดทาง เรียกได้ว่า ปั้นให้เป็นมนุษย์ Specialist ที่รู้ลึกรู้จริงแบบถามอะไรมาในเรื่องนั้นก็ตอบได้หมดไม่มีข้อกังขาใด ๆ

แต่ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัล และหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีบทบาทมากขึ้นทุกวัน การจะรู้อะไรเพียงอย่างเดียว แล้วเอาตัวให้รอดได้ในยุคนี้นั้นก็ดูจะสุ่มเสี่ยงเกินไปหน่อย เพราะหากงานที่ทำอยู่สามารถใช้ระบบอัตโนมัติ หรือ AI เข้ามาทดแทนได้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นล่ะก็เสร็จกัน เพราะเราจะกลายเป็นคนว่างงานแบบอัตโนมัติได้เหมือนกัน!

คนที่มีทักษะหลายอย่าง ประเภททำอันนู่นก็ได้ งานแบบนี้ก็ทำเป็น แต่ถ้าถามลงลึกขั้นแอดวานซ์แล้วล่ะก็มีสะอึกอยู่นิด ๆ เพราะเราก็ไม่ได้รู้ลึกรู้จริงถึงขั้นนั้น เลยมักเกิดอาการน้อยใจอยู่บ่อย ๆ ว่า ทำไมเราไม่เก่งอะไรสักอย่างเลยนะ เป็นเหมือนเป็ดที่ทำอะไรได้หลายอย่าง ทั้งว่ายน้ำ กางปีกบิน หรือเดินเตาะแตะบนบก แต่ก็ไม่ได้เก่งจริงในเรื่องนั้น ๆ สู้ปลาหรือนกก็ไม่ได้

นั่นล่ะปัญหาของ “มนุษย์เป็ด” ที่มักมองว่าตัวเองด้อยค่าไร้ราคาในสายตาตัวเองอยู่บ่อย ๆ ก็คนมันไปได้ไม่สุดนี่นะ แต่จริง ๆ แล้วจะบอกว่า มนุษย์เป็ด ที่ใคร ๆ มองข้ามมีชื่อเรื่องเท่ ๆ อยู่เหมือนกัน แถมยังถือเป็นคนแบบที่องค์กรหลายแห่งในยุคดิจิทัลต้องการตัวอีกด้วย

Emilie Wapnick ได้ให้นิยาม คนที่มีความสนใจหลายด้าน มีแรงปรารถนา (passion) ในการใช้ชีวิตหลายทาง ชอบศึกษาเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ รอบตัว แต่ไม่สามารถตัดสินใจให้แน่ชัดได้ว่าจะไปทางไหนดีว่าเป็นพวก “Multipotentialite” นั่นล่ะชื่อเรียกแบบสุดคูลของเหล่ามนุษย์เป็ด

ถ้าคิดว่าตัวเองเป็นหนึ่งในคนประเภท “Multipotentialite” ที่มีศักยภาพหลายด้าน แม้ไม่ได้เก่งด้านใดด้านหนึ่งอย่างจริงจัง จนรู้สึกเหมือนคนหลงทาง น้อยเนื้อต่ำใจอยู่บ่อย ๆ แต่ใช่ว่าคนแบบนี้จะไม่มีข้อดี ซึ่งอันที่จริงแล้วต้องถือว่าคนแบบนี้แหละที่องค์กรต้องการตัวเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เพราะเป็นคนที่มีทักษะในการปรับตัว กล้าเรียนรู้ ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และมองเห็นภาพกว้างได้มากกว่าคนที่จดจ่ออยู่กับศาสตร์แขนงใดแขนงหนึ่ง

ดังนั้นหากรู้ตัวว่าเป็นมนุษย์เป็ดก็ไม่ต้องเสียใจไป แต่จงใช้พลังแฝงที่มีอยู่ให้ถูกทางเพื่อพัฒนาต่อยอดศักยภาพในแบบของเราเอง เรียกได้ว่าเป็นการอัพเลเวล จากเป็ดริมคลอง ให้กลายเป็นเป็ดทองคำที่ใคร ๆ ก็มองข้ามไปไม่ได้ โดย Emilie Wapnick ได้กล่าวถึง Super Power ของคนแบบ Multipotentialite ไว้ว่า

1. ปิ๊งไอเดียใหม่ ๆ ได้จากความรอบรู้ (Idea Synthesis)

เพราะมนุษย์เป็ดเป็นคนที่ชอบศึกษาศาสตร์หลายแขนง จึงมีความรู้รอบตัวเป็นเลิศ และบ่อยครั้งที่มักจะได้ไอเดียดี ๆ จากการเอาศาสตร์แขนงนี้มาผสมผสานประยุกต์เข้ากับศาสตร์อีกแขนงหนึ่ง ทำให้เกิดเป็นแนวคิด สิ่งประดิษฐ์ หรือนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาได้แบบเหลือเชื่อ!

2. เรียนรู้ได้ไว (Rapid Learning)

ด้วยความเป็นเป็ดที่ชอบทำอะไรหลายอย่าง ลองนั่นลองนี่ไปเรื่อย ทำให้มีความคุ้นชินกับการเป็นนักเรียนที่อยากแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ เปรียบเหมือนน้ำครึ่งแก้วที่เติมยังไม่เต็ม เพราะรู้สึกว่าตัวเองยังไม่เก่งพอ ทำให้มนุษย์เป็ดมีความขยันเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ เพิ่มเติม เพื่อนำมาปรับใช้กับการทำงาน ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติของพนักงานที่ดีที่บริษัทต่างมองหา

3. ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้เสมอ (Adaptability)

ทักษะการปรับตัวมองเผิน ๆ อาจรู้สึกว่าไม่มีอะไร แต่แท้จริงแล้วเรื่องการปรับตัวนี่แหละที่มนุษย์เป็ดเชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด ที่ไหน กับใคร หรือจะเป็นอะไรก็ตาม ถ้าหากจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมตรงนั้นแล้วล่ะก็ มนุษย์เป็ดก็จะสามารถเอาความรอบรู้รอบด้านที่มีในตัวดึงออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดก็คราวนี้แหละ

เห็นไหมว่าความเป็น “มนุษย์เป็ด” ที่หลายคนกังวลและไม่สบายใจไม่ใช่เรื่องไม่ดีที่ต้องแก้ไข หากแต่ต้องรู้จักเข้าใจตนเอง และพัฒนาศักยภาพตามแบบของเราให้เป็นมนุษย์เป็ดที่มีคุณค่า และอยู่รอดได้ในทุกสถานการณ์นั่นเอง

_________________________

อ้างอิงจาก https://fs.blog/2015/11/emilie-wapnick-true-calling