career


“Languishing” ว่างเปล่า และเหนื่อยหน่ายกับทุกสิ่ง


เคยรู้สึกแบบนี้ไหม? ไม่ได้สุขเต็มร้อย แต่ก็ไม่ได้เศร้าเต็มที่ แต่กลับรู้สึกว่างเปล่า เหนื่อยล้า อิดโรย อยากนอนนิ่ง ๆ ไม่ได้อยากทำอะไรมากเป็นพิเศษ แม้รู้ว่ามีเรื่องที่ต้องจัดการมาต่อคิวรอให้ลงมือทำอยู่อีกมากมาย แต่ก็ขาดแรงจูงใจที่จะกระโดดลุกขึ้นมาทำ

แค่ทำให้มันจบไปงั้น ๆ ทำงานให้เสร็จไปวัน ๆ แล้วทอดถอนหายใจว่าจบไปอีกวันแล้วสินะ...

ถ้าเปรียบอารมณ์ความรู้สึกของคนเราเป็น 3 แบบเหมือน 3 พี่น้องในนิทานเด็กที่มีลูกคนโต คนกลาง และคนเล็ก ภาวะ Languishing ก็คงเป็นเหมือนลูกคนกลางที่ถูกทอดทิ้งและละเลยอยู่บ่อย ๆ เพราะพ่อแม่มัวแต่ไปคาดหวังกับลูกคนโต และเอาใจใส่แต่กับลูกคนเล็ก ปล่อยให้ลูกกลางรู้สึกเคว้งคว้าง ว่างเปล่าอยู่บ่อย ๆ

เมื่อแบ่งอารมณ์ความรู้สึกของคนเราออกเป็น 3 แบบใหญ่ ๆ เหมือนลูก 3 คนจะได้เป็น..

  • ลูกคนโตคือ "Flourishing”: อารมณ์ที่ความสุขเบ่งบาน มีกำลังใจ มีแรงจูงใจในการใช้ชีวิต ยังมีความฝันและความหวังอยู่เต็มเปี่ยม
  • ลูกคนกลางคือ “Languishing”: อารมณ์ที่รู้สึกว่างเปล่า แต่ยังมีแรงทำนู่นทำนี่ได้อยู่ แค่ เหนื่อยหน่ายกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ไม่มีเป้าหมายในการใช้ชีวิตที่ชัดเจน
  • ลูกคนเล็กคือ “Depression”: อารมณ์ภาวะซึมเศร้า มองไม่เห็นทางออกในชีวิต หมดอาลัยตายอยาก ขาดแรงจูงใจที่จะมีชีวิตอยู่ต่อหรือทำอะไรก็ตาม

ในยุคการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กินเวลายาวนานมาเป็นปี ตอนแรกหลายคนอาจจะรู้สึกตื่นตัว และตื่นเต้นกับการปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตแบบใหม่ (New Normal) แต่พอผ่านไปนาน ๆ เข้ากลับรู้สึกว่างเปล่า เฉยเมย เฉื่อยชากับสิ่งรอบตัว เรียกได้ว่ารู้สึกขาดแรงจูงใจที่จะทำสิ่งต่าง ๆ อย่างกระตือรือร้น แต่ไม่ถึงกับหมดพลังงาน ไร้ความหวัง ไม่ได้หมดไฟ หรือเป็นซึมเศร้า แค่มีความสุขกับชีวิตน้อยลง และไม่มีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจนเท่านั้นเอง

Corey Keyes นักจิตวิทยาและนักสังคมวิทยาในสหรัฐฯ จึงได้นิยามความรู้สึกที่ติดอยู่ตรงกลางระหว่างความสุขกับความเศร้าว่า “Languishing” ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่คนในสังคมส่วนใหญ่กำลังเผชิญอยู่แบบไม่รู้ตัวในยุคการเข้ามาของโควิด-19 แม้อาการหน่วง ๆ มึน ๆ เนือย ๆ แบบนี้จะไม่ได้ถูกระบุว่าเป็นปัญหาทางสุขภาพจิตขั้นร้ายแรงเหมือนโรคซึมเศร้า (Depression) ที่ต้องได้รับการบำบัดรักษาโดยด่วน แต่หากปล่อยเอาไว้นานวันเข้าก็อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตเรื้อรังตามมาในอนาคตได้เช่นกัน

ยิ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรงมากขึ้นเท่าไหร่ เชื่อว่าหลายคนนอกจากติดอยู่ในบ้านเพราะต้องกักตัว หรือกลัวการออกไปรับเชื้อข้างนอกแล้ว ยังติดอยู่ตรงกลางระหว่างความรู้สึกสุข และทุกข์ด้วย ประมาณว่าไม่ได้สุขแต่ก็ไม่ได้เศร้านะ นี่แหละคุณกำลังตกอยู่ในภาวะ Languishing เข้าให้แล้ว

Adam Grant นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ ผู้เขียนบทความเกี่ยวกับภาวะ Languishing ใน The New York Times มองว่าความรู้สึกว่างเปล่า ความพร่าเลือนของชีวิต อนาคตที่ยังไม่แน่นอน เหมือนขับรถไปบนถนนที่เต็มไปด้วยหมอกหนา มองไม่เห็นจุดหมายปลายทางข้างหน้า นั่นแหละคือ “Languishing” ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นอารมณ์แห่งปี 2021 เลยก็ว่าได้ เพราะเป็นความรู้สึกร่วมที่คนทั่วทั้งโลกน่าจะเป็นและคิดแบบเดียวกัน

แล้วเราจะแก้ไขหรือเอาตัวเองออกมาจากอารมณ์หดหู่แบบเนือย ๆ นี้ได้อย่างไร?

แน่นอนว่านักจิตวิทยาที่ศึกษาเรื่องภาวะ Languishing ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับ วิธีเอาชนะภาวะอิดโรยทางอารมณ์ เอาไว้เช่นกันนั่นคือ..

1. ตั้งชื่อให้กับอารมณ์ที่เป็นอยู่

ถือเป็นขั้นแรกที่จะทำให้เรารู้เท่าทันจิตใจ และความรู้สึกนึกคิดของตัวเองว่า ตอนนี้รู้สึกยังไง เราเป็นอะไร ทำไมถึงรู้สึกแบบนี้ ซึ่งจะช่วยให้ตัวเราไม่หลงไปกับอารมณ์ หรือจมอยู่กับความรู้สึกเชิงลบนั้นมากเกินไป เรียกได้ว่าแม้รู้สึกทุกข์แต่ก็ยังมีสติอยู่

2. เข้าสู่ภาวะลื่นไหล (Flow) ในการทำสิ่งต่าง ๆ

เมื่อรู้ตัวแน่แล้วว่ากำลังรู้สึกเบื่อ เซ็ง ว่างเปล่า สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ การหาโฟกัสให้กับชีวิต อาจเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อะไรก็ได้ที่ทำแล้วมีความสุข เพลิดเพลินไปกับมันได้เรื่อย ๆ ไม่รู้สึกกดดันหรือฝืนความรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ยากเกินไป

ลองหากิจกรรมที่ทำแล้วทำให้เราจดจ่ออยู่กับมันได้ มีสมาธิในการทำสิ่งนั้นอย่างตั้งใจ และที่สำคัญต้องทำให้แน่ใจด้วยว่าจะไม่โดนขัดจังหวะจากสิ่งอื่นหรือคนอื่น (Uninterrupted Time) ซึ่งนั่นจะทำให้ตัวเราซึมซับอยู่กับกิจกรรมนั้นได้นานขึ้น อินกับมันยิ่งขึ้น จนค่อย ๆ ลืมความว่างเปล่า เหนื่อยเซ็ง อิดโรยไปได้

3. ตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ (Small Goals) ที่ทำได้จริง

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กินเวลายาวนานและไม่รู้แน่ชัดว่าจะจบลงเมื่อไหร่ อาจทำให้เป้าหมายใหญ่ในชีวิตของใครหลายคนพังทลายลง แต่ไม่ได้หมายความว่าชีวิตจะจบสิ้นลงไปด้วย เมื่อเป้าหมายหนึ่งเป็นไปไม่ได้ ก็ลองมองหาโอกาสในการสร้างเป้าหมายใหม่ที่ทำได้จริง อาจเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่อย่างน้อยก็ช่วยเพิ่มความท้าทายให้ชีวิตมีสีสัน และช่วยให้เรารู้สึกถึงความก้าวหน้าในตัวเองไปอีกขั้น

การตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ อย่างการเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมวันละครึ่งชม. แล้วค่อย ๆ ขยับเป็น 45 นาที หรือ 1 ชม. จะทำให้เรารู้สึกว่ามันไม่หนักหรือเหนื่อยเกินไปที่จะทำ และเมื่อเราทำ Small Goals นั้นได้ ก็จะช่วยสร้าง Small Wins ให้เราได้ภูมิใจด้วย

สุดท้ายอย่าลืมว่าแม้ภาวะ “Languishing” จะไม่ได้ร้ายแรงหรือรุนแรงเหมือนโรคซึมเศร้า แต่ก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ให้กัดกร่อนจิตใจของเราไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นภาวะเรื้อรังที่เป็นบาดแผลทางจิตใจขนาดใหญ่ในอนาคต แต่จงยอมรับ เรียนรู้ และแก้ไขมันไปด้วยกัน!

_________________________

อ้างอิงจาก https://www.nytimes.com/2021/04/19/well/mind/covid-mental-health-languishing.html