จนบางทีก็น่าคิดว่าที่เราโหมทำงานหนักจะเร่งไปสู่ความสำเร็จ หรือจะเร่งทำลายสุขภาพก่อนกันแน่ ถ้าทำงานมากไปจนเป็นโรค Burnout Syndrome ก็ไม่ดี
ถ้าทำงานน้อยเกินไปจนไม่มี Productivity กลายเป็นคนขี้เกียจไปก็ไม่ดีอีก เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ถึงเวลาต้องทำงานแบบ “Lagom” (ลา-กอม) ซึ่งเป็นภาษาสวีดิชแปลว่า “Not too little. Not too much. Just right.” หรือ “ไม่มากไป ไม่น้อยไป พอดี ๆ” นั่นเอง
แนวคิด Lagom เป็นสิ่งที่ฝังรากลึกอยู่ในไลฟ์สไตล์ของชาวสวีเดน หนึ่งในประเทศที่มีดัชนีความสุขมากที่สุดในโลก ด้วยความสมดุลเป็นอย่างดีระหว่างการใช้ชีวิต และการทำงาน (Work-life balance) รวมทั้งมาตรฐานการครองชีพที่สูงจนน่าอิจฉา! ถ้าจะพูดให้ง่ายก็คือ Lagom ถือเป็นอุดมคติที่แทรกซึมอยู่ในทุกมิติการใช้ชีวิตของชาวสวีดิช ทั้งการกิน ดื่ม เที่ยวเล่น รวมไปถึงการทำงานด้วย
ดังนั้นแทนที่จะโหมทำงาน 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นั่งลากยาวอยู่ในออฟฟิศหรือหอบงานไปทำต่อที่บ้านจนดึกดื่น ทำให้ไมเกรนขึ้นและเครียดสะสม คนที่ทำงานตามหลัก Lagom จะเลือกเข้างานตรงเวลา และลุกจากเก้าอี้ทันทีเมื่อถึงเวลาเลิกงาน เพราะได้ใช้เวลาโฟกัสกับการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดแล้วในช่วงเวลาทำงานปกติ
ในภาษาสวีดิชจึงมีสำนวนที่ว่า “Lagom är bäst” ที่แปลความหมายตรงตัวได้ว่า “The right amount is best” หรือ “ความพอดีนั้นดีที่สุด” หรือคนไทยอาจจะรู้จักกันในชื่อคำสอนที่เราคุ้นหูกันดีอย่าง “ทางสายกลาง” ที่สอนให้เรามีสติ รู้จักทำอะไรอย่างพอประมาณ ซึ่งจะทำให้ชีวิตเรามีความสุขได้แบบเรียบง่ายและยั่งยืน
เมื่อพูดถึงการทำงานในสังคมอเมริกัน คนที่มาแต่เช้าตรู่และกลับออกจากออฟฟิศเป็นคนสุดท้าย มักจะถูกมองว่าเป็นคนที่ทำงานหนัก และทุ่มเทกับการทำงาน สมควรได้รับคำชื่นชมจากการอุทิศตนนั้น แต่ถ้าหากเอาหลักการทำงาน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์แบบนั้นมาใช้ที่สวีเดนล่ะก็ คนที่ทำงานเกินเวลาบ่อย ๆ หรือนอนค้างออฟฟิศไม่กลับบ้านกลับช่องจะถูกมองว่าเป็นคนที่บริหารจัดการเวลาและใช้ชีวิตไม่เป็นเอาเสียเลย! เพราะการทำงานหนักของที่นี่คือ การทำงานให้อยู่ภายใน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือ 8 ชั่วโมงต่อวัน สิ่งสำคัญคือ ต้องใช้เวลาทุกนาทีโฟกัสไปกับการทำงานให้เต็มที่และมีประสิทธิภาพมากที่สุด
คำว่า “คุณภาพเหนือปริมาณ” จึงเป็นสิ่งที่ผู้ที่อยากนำคอนเซปต์ลากอมไปใช้จะต้องจดจำเอาไว้ให้ดี โดยเฉพาะเรื่องงาน ยิ่งถ้าเป็นงานโปรเจคใหญ่ที่ต้องใช้เวลามาก ทริคที่จะทำให้งานนั้นไม่หนักเกินไป คือการวางแผนแบ่งงานที่ต้องทำออกเป็นส่วน ๆ และเรียงลำดับความสำคัญของงานให้ดี แล้วเริ่มทำตาม To-do list ที่เป็นงานย่อย ๆ นั้นเรียงไปทีละอัน เหมือนต่อจิ๊กซอว์ รู้ตัวอีกทีคุณอาจรวมจิ๊กซอว์ชิ้นเล็ก ๆ เหล่านั้นให้กลายเป็นภาพใหญ่ที่เสร็จสมบูรณ์อย่างสวยงามแล้วก็เป็นได้
นอกจากการทำงาน-เลิกงานแบบตรงเวลาที่ถือเป็นแนวคิดหลักของวิถีการทำงานแบบลากอมแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่กลายเป็น Signature ของวัฒนธรรมการทำงานสไตล์สวีดิชที่ยึดถือคอนเซปต์ลากอมเป็นชีวิตจิตใจคือ “Fika” หรือ “การพักดื่มกาแฟ” เป็นเวลา 15 นาทีทั้งเช้าและบ่าย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พนักงานจะได้ออกมายืดเส้นยืดสาย และจิบกาแฟร้อน ๆ หอมกรุ่น ทานคู่กับขนมอบที่เพิ่งออกจากเตา ซึ่งฟังดูเหมือนจะชิล เพราะว่าเป็นช่วงเวลาสบาย ๆ ที่ได้พักผ่อน แต่ในอีกแง่หนึ่งก็มีนัยยะแอบแฝงที่เอื้อต่อการทำงานด้วย เนื่องจากตอนพักเบรกนี้เอง เป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานจากหลายแผนกได้มารวมตัว สังสรรค์พูดคุยกันในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ทำความรู้จักเพื่อนใหม่ สร้างคอนเนคชั่นดี ๆ ที่จะช่วยให้การทำงานลื่นไหล หรืออาจปิ๊งไอเดียเด็ด ๆ ที่นำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานได้ระหว่างคุยชิทแชทกันอยู่ก็เป็นได้
สตาร์ทอัพอย่าง Neo Technology ในรัฐแคลิฟอร์เนียก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่นำหลักการ Lagom ไปใช้กับการทำงานอย่างจริงจัง โดยสนับสนุนให้พนักงานทำงาน 40-50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ไม่มากไปกว่านี้ รวมทั้งมีการโค้ชชิ่งระดับผู้จัดการให้ช่วยสอดส่องดูแลลูกน้องในทีมไม่ให้ทำงานหนักเกินไปจนเกิดภาวะ Burnout โดยสอนให้พนักงานแต่ละคนรู้จักวางแผนงานล่วงหน้า และจัดลำดับความสำคัญของงานที่ต้องทำให้เป็น นอกจากนี้บริษัทยังอนุญาตให้พนักงานเลิกงานก่อนเวลาได้ในบางโอกาสเช่น เป็นวันเกิดตัวเองหรือคนในครอบครัว หรือวันครบรอบแต่งงาน เป็นต้น ด้วยความรู้สึกเชื่อใจที่บริษัทมีต่อพนักงานนี้เอง พนักงานจึงมีแนวโน้มที่จะทำงานได้ดีตามที่คาดหวังหรืออาจดีกว่านั้นด้วยซ้ำไป
เมื่อมองกลับมาที่ออฟฟิศในไทย หากคุณลุกขึ้นจากเก้าอี้ทันทีที่นาฬิกาชี้ว่าถึงเวลาเลิกงานแล้ว แต่ดันหันไปเจอสีหน้าแปลกใจเชิงตำหนิของเพื่อนร่วมงานโต๊ะข้าง ๆ ก็อาจต้องบอกเค้าไปว่า “ทำงานแบบ Lagom อยู่” (ถ้าเค้าไม่รู้จักก็ให้ลองมาอ่านบทความนี้ดู)
แล้ววันนี้คุณได้เริ่มต้นนำแนวคิดลากอมไปใช้ในการทำงานให้ชีวิตมีความสมดุลและกลมกล่อมมากขึ้นรึยัง? ถ้ายัง ลองดูแล้วจะรู้ว่าอะไรที่มัน “พอดี ๆ” นี่ดีต่อใจจริง ๆ นะ