career


กับดักของ Follow Your Passion


หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องราวของการตามหา “Passion” และใฝ่ฝันที่จะมี Passion ในการทำงาน เพราะการมี Passion เป็นเหมือนแรงขับเคลื่อนให้เราได้ใช้ชีวิตในแบบที่เราอยากใช้ ทำให้เราตื่นมาตอนเช้าแล้วอยากลุกจากเตียงไปทำงาน

ทำให้เรามีความสุขในการทำงาน ทำให้เราอยากพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น เพราะงานที่มาพร้อมกับ Passion จะทำให้เราสามารถก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ ได้ ไม่ว่ามันจะยากแค่ไหนก็ตาม

เมื่อ “Passion” เป็นสิ่งสำคัญในชีวิตของเราขนาดนี้ ปัญหาที่ทำให้หลายคนยังไม่เจอสิ่งที่รักหรือหลงใหลซักที อาจเป็นเพราะเรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับการตามหา Passion อยู่รึเปล่านะ?

ถ้าอย่างนั้นเราลองมาทำความเข้าใจ และเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการตามหา Passion กันใหม่ดีกว่า เพื่อที่จะหาว่าทำไมเรายังไม่เจอซักที หรือทำอย่างไรเราถึงจะเจอ Passion ที่ว่านั้นได้

1. Passion สร้างได้ 
เรามักจะเข้าใจกันผิด ๆ ว่า Passion นั้นเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดเอาไว้แล้ว หลายคนลองค้นหา Passion ด้วยการลองทำงานต่าง ๆ ทำนู่นทำนี่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ และสังเกตดูว่างานนั้นเหมาะกับเราหรือไม่ แต่เราต้องไม่ลืมว่า คนเราจะมีความรักบางครั้งต้องใช้เวลา ต้องศึกษากันและกันอยู่สักพัก ต้องใช้ความเข้าใจและเอาใจใส่กันเป็นเครื่องพิสูจน์ เช่นเดียวกับการทดสอบ Passion ในแต่ละงานก็ต้องใช้เวลาในการฝึกฝนทักษะ จนกว่าจะเกิดความมั่นใจได้ว่า เรารักงานนี้จริง ๆ

กับดักตรงนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อเราพบกับความยุ่งยาก หรืออุปสรรคบางอย่าง แล้วเราก็พร้อมจะกระโดดออกมา และบอกทุกคนไปว่า “งานนี้มันยังไม่ใช่ ไม่เหมาะกับเราเลย” เพราะเมื่อเราศึกษาหรือทำบางสิ่งแบบลงลึกขึ้นเรื่อย ๆ เราก็จะยิ่งรู้จักสิ่งนั้นมากขึ้น ๆ ซึ่งจะเป็นการพัฒนา Passion ให้เพิ่มขึ้น ดังนั้นแทนที่จะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา หรือทำอะไรจับจด มาลองใช้เวลาศึกษาสิ่งต่าง ๆ ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น แล้วเราอาจจะพบ Passion ของเราจริง ๆ ก็ได้

2. Focus ที่คุณค่า ไม่ใช่แค่ความสนุก 
อีกเรื่องที่เข้าใจผิดกันบ่อยเรื่องการตามหา Passion คือ การตามหางานที่ทำแล้วรู้สึกสนุก สิ่งที่สำคัญในการตามหา Passion คือการมุ่งเป้าไปในเรื่องที่เราสนใจ เพราะผลที่ออกมาจะทำให้เราเห็นถึง Impact ที่เราสร้างขึ้น รวมทั้งเห็นคุณค่าของตัวเราเองสะท้อนผ่านออกมาจากชิ้นงานนั้น

ดังนั้น ในบางงานที่เรารู้สึกว่ามันสนุกเมื่อเริ่มต้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป เรากลับสนุกกับมันน้อยลง อาจจะไม่ใช่เพราะเราหมด Passion เสมอไป ถ้าเรายังเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำอยู่ และมีความสุขที่ได้ส่งต่อคุณค่านี้ ก็ยังถือว่าเรายังมี Passion กับมันอยู่ดี

3. จุดอ่อนของ Passion
คนที่มีใจรักในงานบางครั้งอาจจะทุ่มเทมากซะจนไม่สามารถสร้างจุดสมดุลระหว่างชีวิตการงานและชีวิตส่วนตัวได้ จนนำไปสู่ภาวะหมดไฟได้ในที่สุด บ่อยครั้งที่คนรักงานเป็นชีวิตจิตใจจะถูกใช้งานหนักกว่าปกติ เพราะเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานเห็นว่าเป็นคนที่ทำงานได้ดีและน่าไว้วางใจที่สุด บางครั้ง งานที่หนักหนาจนเกินรับไหวก็อาจทำให้คนที่มี Passion เหล่านั้นหมดกำลังใจที่จะไปต่อ ซึ่งภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) ก็ทำให้ Passion ที่เคยมีเจือจางหายไปได้

สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่การตามหา Passion ให้เจอ และอยู่กับมันเท่านั้น เราควรทำความเข้าใจด้วยว่า Passion ก็เป็นสิ่งที่มีพัฒนาการ มีความเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละขณะช่วงชีวิตและประสบการณ์ของเรา ไม่ว่าคุณเป็นใครก็จงอย่าหมดหวังในการ “Follow Your Passion” นะคะ