EdTech เป็นรูปแบบการเรียนรู้แบบผสมผสานเทคโนโลยี เพื่อมุ่งเน้นในการสร้างเสริมประสบการณ์ ทำให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับการเรียนและปรับแต่งวิธีการเรียนให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน เมื่อเราต้องพึ่งพาเทคโนโลยี เป็นธรรมดาที่เราจะต้องติดตามนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้ทัน ในแวดวงของ EdTech ก็เช่นกัน ที่แต่ละปี จะมีการจัด EdTechX Conference ในแต่ละภูมิภาค และทุกครั้งในงานจะคับคั่งไปด้วยคนดังในวงการ
วันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา SCB ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน EdTechX Asia Ecosystem ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีมาเข้าร่วมงานมากมายไม่ว่าจะเป็น AWS (Amazon Web Services), สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), SCB, True Corporation และ สมาคม Thailand Tech Startup จุดประสงค์ของการจัดงานนี้ เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาในประเทศไทย ในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย เช่น Startup Pitch ระหว่าง Startup เลือดใหม่ 8 ทีม โดยแต่ละทีมได้นำเสนอผลงานที่โดดเด่น ไม่ว่าจะเป็น Platform ที่นำเสนอการเรียนรู้ผ่านเกม (Game-based learning), Platform แนะแนวการศึกษา, Platform การเรียนทาง Online รวมทั้งเครื่องมือช่วยสร้างสมาธิในการทำงาน โดย ผู้ชนะได้แก่ทีม Vonder ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแชทบอทที่นำเสนอ Game-based learning ทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนและทำแบบฝึกหัดผ่านเกม ซึ่งทำให้บทเรียนมีความน่าสนใจ และที่สำคัญยังสนุกอีกด้วย
นอกจากจะสร้างความเพลิดเพลินให้เด็ก ๆ แล้ว EdTech ยังมีการใช้งานที่น่าสนใจที่สามารถนำไปปรับใช้กับโปรแกรมการพัฒนาศักยภาพของพนักงานในองค์กร หรือที่เรียกกันว่า Employee Development ได้อีกด้วย โดยจากงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าการสร้างโปรแกรมพัฒนาศักยภาพให้พนักงานในองค์กรมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการจ้างคนใหม่ที่มีทักษะเหล่านี้เสียอีก ปัจจุบันทุกองค์กรต่างให้ความสำคัญกับ Employee Development ที่เน้นให้พนักงานได้ฝึกฝนทักษะเพิ่มเติมเพื่อความก้าวหน้าในวิชาชีพ ผ่านทาง EdTech ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้โปรเกรมการเรียนการสอนสามารถเข้าถึงได้ง่าย สะดวก และสามารถเขียนโปรแกรมปรับแต่งเนื้อหาอัตโนมัติให้เหมาะสมกับทักษะที่ต้องการ
ในปัจจุบันได้มีการใช้ EdTech กันมากมายในการเรียนการสอนทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ และยังคงมีแนวโน้มที่จะใช้กันอย่างแพร่หลายในอนาคต วันนี้เราจึงได้รวบรวมเทรนด์สำหรับการใช้ EdTech ในรูปแบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
Game-based learning
นวัตกรรมสื่อการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่ออกแบบและสอดแทรกเนื้อหาบทเรียนลงไปในเกม ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ลงมือเล่นและฝึกปฏิบัติในการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยในขณะที่ลงมือเล่นผู้เรียนจะได้รับทักษะ และความรู้จากเนื้อหาบทเรียนไปด้วยขณะที่เล่น จากที่ได้กล่าวไปข้างต้น ผู้ชนะของ Startup Pitch ในงาน EdTechX Asia คือทีม Vonder ผู้ประดิษฐ์ Chatbot ที่เป็น Game-based learning เพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก นอกจาก Chatbot แล้ว Game-based learning ยังรวมไปถึงการจำลองสถานการณ์ การเล่นบอร์ดเกม หรือ การ์ดเกม เพื่อการศึกษาอีกด้วย
หนึ่งใน Application ที่เป็นที่รู้จักกันดีสำหรับ Game-based learning คือ
Kahoot นอกจากจะมีเกมให้เลือกเล่นแล้ว ยังเปิดโอกาสให้เราสร้างเกมใหม่เองได้อีกด้วย
Gamification
Gamification เป็นการนำเอา Element ต่าง ๆ ของเกมมาเป็นองค์ประกอบในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น สื่อการเรียนการสอน โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่อาจจะรู้สึกสับสนระหว่าง Gamification และ Game-based learning เพราะมีความเกี่ยวข้องกับเกมเหมือนกัน สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ Gamification เป็นกิจกรรมการเรียนการสอนลักษณะทั่วไป แต่มีการนำเอา Element ของเกมมาใช้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วม เช่น การสะสมแต้ม การได้เหรียญ (Badge) เมื่อผ่านเงื่อนไขต่าง ๆ วัตถุประสงค์ของการใช้ Gamification คือเพื่อชักจูงให้ผู้เรียนบรรลุจุดมุ่งหมายที่วางเป็นลำดับขั้นไว้ เพื่อเสริมสร้าง Engagement ในการเรียนรู้
ตัวอย่างของ Platform ที่เป็นที่นิยมและมีการใช้ Gamification ได้แก่
Khan Academy ที่ได้สร้างระบบการให้รางวัล การสะสมคะแนนต่าง ๆ เมื่อเรียนคอร์สต่าง ๆ จบแล้ว
Artificial Intelligence และ Machine Learning
Machine Learning (ML) ถูกใช้งานเหมือนเป็นสมองของ Artificial Intelligence (AI) โดยที่มนุษย์มีหน้าที่เขียนโปรแกรมให้ AI จากนั้น AI จึงใช้ ML ในการจดจำรวมทั้งส่งผลลัพท์ออกมาเป็น Code และส่งต่อไปแสดงผล หรือสั่งให้ AI ทำหน้าที่ต่าง ๆ
ประโยชน์ในการใช้ AI และ ML ในแวดวงการศึกษายุคใหม่คือ ความสามารถในการ Personalize โปรแกรมการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับผู้เรียน รวมไปถึงการแนะนำบทเรียนเพิ่มเติมที่เป็นการต่อยอดการเรียนรู้ และให้คะแนนเพื่อประเมินผล
ตัวอย่าง Application ที่ใช้ AI และ ML คือ
Duolingo เป็น Platform การเรียนการสอนภาษาต่างชาติที่ใช้ AI และ ML ในการหาจุดอ่อนของผู้เรียน รวมทั้งแนะนำบทเรียนและหนังสืออ่านเสริมที่เหมาะสมให้นักเรียนแต่ละคน
AR และ VR
Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) ทำการสร้าง Virtual model เพื่อจำลองสถานการณ์ให้เราได้เรียนรู้ประสบการณ์ต่าง ๆผ่าน Computer Simulation ตัวอย่างที่คนรู้จักกันมากคือ Flight simulation ที่จำลองสถานการณ์ให้นักเรียนที่เรียนการบินได้ฝึกฝนการบินก่อนการปฏิบัติจริง นอกจากนี้การนำ Simulation มาผสมผสานถือเป็นรูปแบบใหม่ในการเรียนการสอนของแพทย์เฉพาะทางอีกด้วย
Design Thinking
หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า Design Thinking กันมาบ้างแล้ว Design Thinking เป็นกระบวนการคิดในเชิงออกแบบที่กำลังแพร่หลายอย่างมากในปัจจุบัน หัวใจที่สำคัญคือการทำความเข้าใจปัญหาต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง โดยเอาผู้ใช้เป็นศูนย์กลางและประกอบไอเดียจากหลาย ๆ แหล่งมาสร้างแนวทางในการแก้ไข หลังจากนั้นจึงนำมาทดสอบและพัฒนา เพื่อให้ตอบโจทย์ให้ได้มากที่สุด
รูปแบบการคิดนี้เป็นการคิดนอกกรอบชนิดหนึ่ง ด้วยคุณประโยชน์ของกระบวนการคิดที่มีความยืดหยุ่น การ Focus ให้ตรงจุด รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับความร่วมมือของคนในทีม ทำให้ปัจจุบันมีการนำมาปรับใช้กันมากโดยเฉพาะในแวดวง Technology และการศึกษา
จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นว่า EdTech เข้ามามีบทบาทในการศึกษาและการ Training ไม่น้อย ทาง SCB ก็มีการใช้ Platform ในส่วนของ Employee Development เพื่อให้พนักงานได้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะกันได้ทุกที่ทุกเวลาด้วย Platform ที่เข้าถึงง่ายผ่านระบบ Online จัดทำระบบการเรียนเป็นรูปแบบ Gamification ซึ่งมีการใช้ AI และ ML ในการแนะนำบทเรียนที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนให้พนักงานได้ upskill และ reskill กันอย่างต่อเนื่อง
เทรนด์ต่าง ๆ ที่เราได้เห็นกันอยู่นี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาที่ยังมีต่อไปได้ไกลในอนาคต องค์กรต่าง ๆ จึงควรพิจารณาที่จะนำ EdTech มาใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพของพนักงานในองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพราะการเรียนรู้ตลอดชีวิตคือหัวใจของโลกปัจจุบัน