เรียกได้ว่างานอะไรก็ตามที่ทำซ้ำ ๆ เป็นแบบแผนตายตัว ไม่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มากนักก็อาจมีความเสี่ยงถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ AI ได้ทั้งสิ้น
การสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในโลกอนาคตจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะไม่ว่าจะทำงานในสายงานไหน ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้เทคโนโลยีได้ ยิ่งใครมีทักษะที่บริษัทต้องการและเข้าใจระบบการทำงานได้มากกว่าก็ยิ่งได้เปรียบ เพราะสามารถนำไปต่อยอดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ชัดเจนขึ้น
ทักษะการเขียนโปรแกรม (Coding) ที่เรามักเข้าใจกันว่า เป็นทักษะเฉพาะสำหรับผู้ที่เรียนมาทางด้าน IT หรือ ICT อย่างเดียวนั้นอาจไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป เพราะจริง ๆ แล้วการโค้ดดิ้งเป็นอะไรที่มากกว่าการเขียนชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์ให้ทำงานได้ตามที่เราต้องการ แต่ยังช่วยฝึกการใช้ความคิดเชิงตรรกะ ความคิดสร้างสรรค์ และการแก้ปัญหา เรียกได้ว่าหากทำความเข้าใจและฝึกฝนทักษะการโค้ดดิ้งอย่างสม่ำเสมอแล้ว คุณก็จะกลายเป็นคนที่มีความคิดเชื่อมโยงอย่างเป็นเหตุเป็นผล รวมทั้งมีมุมมองที่ชัดเจนขึ้นในการมองภาพใหญ่ของระบบงานทั้งแผนกหรือทั้งธุรกิจ
แม้ตอนเริ่มต้นอาจจะยากสักหน่อย สำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานทางด้านภาษาโปรแกรมมิ่งใด ๆ มาเลยแต่ก็ใช่ว่า คนธรรมดาจะเรียนโค้ดดิ้งจนกลายเป็นโปรแกรมเมอร์มืออาชีพ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือนักพัฒนาแอปพลิเคชั่นจริง ๆ ไม่ได้ เพราะมีหลายคนที่เริ่มเรียนจากภาษาเบสิคก่อนแล้วไต่เต้าไปเรื่อย ๆ จนสามารถเข้าใจและสร้างเว็บหรือแอปง่าย ๆ ขึ้นมาได้
สิ่งสำคัญสำหรับการเรียนโค้ดดิ้งคือ เป้าหมายในการเรียนรู้ของคุณ เช่น เพื่อสร้างเว็บไซต์ของตัวเอง สร้างแอปพลิเคชั่นที่ช่วยตอบโจทย์ธุรกิจ อยากเปลี่ยนสายงานเข้าสู่วงการ Digital & Tech เป็นต้น เพราะหากไม่มีเป้าหมาย หรือไร้ทิศทางในการเรียนรู้แล้วก็จะทำให้เกิดอาการถอดใจไปเสียก่อนได้ง่าย จนกลายเป็นว่าพอเรียนมาสักพักเริ่มรู้สึกหมดกำลังใจ ไม่อยากไปต่อ กลายเป็นรู้สึกแย่กว่าเดิมเสียอีกที่ทำไม่สำเร็จ
นอกจากเป้าหมายในการเรียนจะต้องแน่ชัดแล้ว สิ่งที่จะช่วยได้อีกอย่างคือ การเข้าร่วมคอมมูนิตี้ (Community) ของเหล่านักพัฒนาและโปรแกรมเมอร์ ไปแนะนำตัว และขอคำแนะนำจากเหล่ากูรูในวงการที่พร้อมและเต็มใจให้ความช่วยเหลือเหล่าน้องใหม่อยู่แล้ว ด้วยวิธีนี้เองจะทำให้คุณมีเพื่อนร่วมทางมากขึ้น มีรุ่นพี่ในวงการที่คอยให้กำลังใจ และเป็นที่ปรึกษาหากมีเรื่องติดขัดหรือสงสัยตรงไหนขึ้นมา ทำให้คุณไม่รู้สึกว่าตัวเองต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวบนเส้นทางการเรียนรู้ที่ไม่คุ้นเคยนี้
โดยคุณสามารถเข้าร่วมคอมมูนิตี้การเรียนรู้โค้ดดิ้งระดับสากลได้ที่ https://www.freecodecamp.org ซึ่งรวบรวมบทเรียนสำหรับการเรียนรู้ภาษาโปรแกรมขั้นพื้นฐานเอาไว้มากมาย ทั้ง การออกแบบเว็บไซต์แบบ Responsive, ภาษา Javascript, Data Visualization, Machine Learning เป็นต้น ข้อดีอีกอย่างคือบทเรียนทั้งหมดนี้คุณสามารถเข้าเรียนได้ฟรี และเมื่อเรียนจบยังได้ Certification ออนไลน์มาการันตีความสามารถอีกต่างหาก
อีกคอมมูนิตี้หนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ https://www.codenewbie.org ที่เป็นเหมือนเว็บบอร์ดที่รวบรวมคำถาม-คำตอบเกี่ยวกับโค้ดดิ้งให้เหล่า coder มือใหม่ได้เข้าไปตั้งกระทู้ถามคำถามหรือปรึกษาปัญหาติดขัดในการโค้ด และจะมีคนในชุมชนช่วยเข้ามาตอบปัญหา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ พร้อมนำเสนอ solution ที่เป็นไปได้มากที่สุด กล่าวได้ว่าทุกปัญหาด้านโค้ดดิ้งสำหรับมือใหม่มีคำตอบเสมอที่ CodeNewbie
นอกจากนี้ที่ CodeNewbie ยังมี Podcasts อีกมากมายที่น่าสนใจให้ฟัง ซึ่งล้วนเป็นการแชร์เรื่องราวหลากหลายแง่มุมของการโค้ดดิ่ง เช่น Coding Journey หรือการเดินทางนับหนึ่งตั้งแต่การเริ่มต้นเรียนโค้ดดิ้ง อุปสรรคต่าง ๆ ที่เจอ และการก้าวข้ามผ่านมันไปให้ได้, Soft Skills ที่จำเป็นสำหรับนักพัฒนาโปรแกรม เพราะเก่งแค่ไหนแต่หากสื่อสารให้คนทั่วไปเข้าใจไม่ได้ก็อาจอยู่ไม่รอดรวมถึงพอดแคสต์ที่เป็นหัวข้อเชิงเทคนิค เช่น สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ APIs และ Node.js คืออะไร แล้วเมื่อไหร่ถึงควรจะใช้มัน เป็นต้น
รู้แบบนี้แล้ว ถ้าใครอยากก้าวไปสู่โลกแห่งอนาคตที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และขับเคลื่อนสิ่งต่าง ๆ ด้วยกลไกทางเทคโนโลยีแล้วล่ะก็ คงถึงเวลาต้องมองหาทักษะใหม่ ๆ เพิ่มมูลค่าความรู้ความสามารถให้ตัวเองกันหน่อย มาลงมือเริ่มเรียนโค้ดดิ้งไปทีละขั้น เริ่มจากบทเรียนที่ง่ายที่สุดอย่างภาษา Html และ CSS แล้วค่อย ๆ ไต่ระดับขึ้นไป ถ้าจะให้ดีลองหาเพื่อนหรือบัดดี้คู่ซี้มาเป็นกำลังใจให้พยายามสู้ไปด้วยกันจะได้ไม่เหงา แถมมีแรงฮึดส่งให้กันและกัน เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ให้ได้ในที่สุด
สุดท้ายการเรียนรู้จะสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเอง ความพยายามทุกครั้งอาจไม่ได้นำไปสู่ความสำเร็จ แต่ทุกความสำเร็จนั้นมาจากความพยายาม!