อย่างที่บอกว่ากฎ 80/20 มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พาเรโต” ซึ่งตั้งชื่อตามผู้คิดค้นทฤษฎีนี้ที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาเลียนชื่อ วิลเฟรโด พาเรโต (Vilfredo Pareto) ในปี ค.ศ. 1895 จากการที่เขาสังเกตเห็นว่า สภาพแวดล้อมรอบตัวทั้งตามธรรมชาติและทางสังคมจะมีส่วนที่สำคัญ (คิดเป็น 20%) อยู่น้อยกว่าส่วนที่ไม่สำคัญ (คิดเป็น 80%)
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ การที่เขาค้นพบว่า 80% ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการถือครองความมั่งคั่งของประเทศอิตาลีในช่วงเวลานั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มคนเพียง 20% เท่านั้นจากประชากรทั้งประเทศ
กฎ 80/20 ของพาเรโต สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ เพราะเมื่อเข้าใจแนวคิดของหลักการนี้แล้วก็จะช่วยให้เราสามารถจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่าง ๆ และจัดการเวลาที่ใช้ในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ และแต่ละเดือนได้ดียิ่งขึ้น
เราอาจเคยเห็นคนทำงานที่ดูยุ่งตลอดเวลาทั้งวัน แต่ดูเหมือนจะสร้างผลงานหรือผลลัพธ์ออกมาได้เพียงน้อยนิด ซึ่งนั่นอาจเป็นเพราะพวกเขาเอาแต่ง่วนอยู่กับงานที่มีคุณค่าน้อย ขณะที่หาข้ออ้างเพื่อเลื่อนการทำงานชิ้นใหญ่ที่ยากและซับซ้อนออกไปเรื่อย ๆ ทั้งที่ความจริงแล้วงานยาก ๆ ชิ้นหรือสองชิ้นนั้นสามารถสร้างความแตกต่างให้กับบริษัท หรืออาชีพของเขาได้เลย
งานที่มีคุณค่าหรือมูลค่าสูงมักเป็นงานที่ยากที่สุดและมีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก หลายคนพอได้รับมอบหมายงานประเภทนี้จึงมักติดนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง เลื่อนที่จะทำงานใหญ่ที่ต้องใช้ความพยายามสูงแบบนี้ออกไปก่อน แล้วจัดการงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ยิบย่อยที่ทำได้ง่าย ๆ ก่อนแทน แม้จะรู้ว่าผลตอบแทน และรางวัลที่จะได้รับจากการทำงานชิ้นมหึมานี้ให้เสร็จนั้นคุ้มค่ามหาศาล
ดังนั้นก่อนที่เราจะเริ่มทำงานอะไรก็ตาม ให้ถามตัวเองเสมอว่า “งานที่กำลังจะทำต่อไปนี้อยู่ในสัดส่วนด้านบน 20% หรือด้านล่าง 80% ของกิจกรรมที่สำคัญ”
กฎข้อหนึ่งที่เราต้องจำไว้ให้ดีคือ เราต้องอดทนและพยายามต่อต้านความอยาก ความต้องการ ความเคยชิน หรือจิตใต้สำนึกที่มักสั่งให้เราจัดการงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อน เพราะเมื่อเราเลือกที่จะเริ่มต้นวันด้วยการทำงานที่เบาที่สุด มีคุณค่าน้อยที่สุดก่อน จากนั้นเราก็จะเริ่มพัฒนานิสัยการทำงานแบบนั้นไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นความคุ้นชินหรือกิจวัตรที่แก้ได้ยาก
แทนที่จะตกหลุมพรางของสมองที่มักช่วยเราหาทางลัดให้รู้สึกสบายที่สุด (แต่อาจลำบากภายหลัง) เราควรตัดสินใจทำงานที่สำคัญที่สุดก่อน ซึ่งมักเป็นงานที่ยาก ซับซ้อน ใช้ความพยายามในการสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ หรือติดต่อประสานงานอย่างมากกว่าจะสำเร็จ โดยตามหลักการพาเรโตแล้ว งานแบบนี้จะคิดเป็นสัดส่วน 20% ของงานทั้งหมดที่จะมีผลกระทบต่อชีวิตการทำงานของเราได้มากถึง 80%
เหมือนที่คุณ Brian Tracy นักเขียนตำราการบริหารจัดการเวลาชื่อดังเจ้าของหนังสือ “กินกบตัวนั้นซะ!” ได้แนะนำว่า หากต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต และบริหารจัดการเวลาให้เข้าที่เข้าทางให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เราควร “Eat The Biggest Frog First” หรือให้กินกบตัวใหญ่ที่สุดเข้าไปก่อน ซึ่งกบตัวใหญ่ที่สุดก็เปรียบเสมือนเรื่องยาก และงานที่น่าหนักใจ ที่มันติดค้างอยู่ในความคิดตลอดเวลา หากเราสามารถรีบจัดการให้มันเสร็จไปก่อนได้ เราก็จะรู้สึกโล่งใจ หายใจได้คล่องคอขึ้นเยอะเลยทีเดียว
และกบตัวใหญ่ที่ว่านั้นก็มักอยู่ในส่วน 20% ด้านบนของงานซะด้วยสิ!
ใจความสำคัญหรือ Main idea ของหลักการพาเรโตที่แท้จริงแล้วคือ การหาว่าในชีวิตของเรานั้นอะไรบ้างคือเรื่องสำคัญ และอะไรที่ไม่สำคัญ
เมื่อเรารู้ว่าเรื่องไหนสำคัญกับชีวิตของเราก็ให้โฟกัสไปที่เรื่องสำคัญไม่กี่อย่างนั้นที่คิดเป็นสัดส่วน 20% หรือให้ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ความพยายามของเราไปให้ถูกที่นั่นเอง
เนื่องจากการมุ่งเน้นความสนใจไปที่กิจกรรมหรืองาน 20% นั้นอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตของเรา หรือให้ผลลัพธ์ในเชิงบวกได้มากถึง 80% เลยทีเดียว
ตอนนี้คำถามสำคัญที่เราต้องตอบตัวเองให้ได้ก็คือ แล้วเรื่องอะไรล่ะที่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา?
_________________________