career


รู้จักภาวะผู้นำ 5 ระดับ สู่ผู้นำต้นแบบที่ได้ใจคน


“ผู้นำ” กับ “หัวหน้า” อาจเป็นคำที่ฟังผ่าน ๆ แล้วดูมีความหมายคล้ายกัน แต่รู้ไหมว่าความจริงแล้ว “ผู้นำ” มีความแตกต่างจาก “หัวหน้า” ค่อนข้างมาก เพราะผู้นำคือ ผู้ที่คอยให้คำแนะนำ สร้างแรงบันดาลใจ สนับสนุน และเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูกน้อง

รวมถึงให้ความสำคัญกับงานและคนในทีมไปพร้อม ๆ กัน ส่วนหัวหน้าคือ ผู้ที่คอยสั่งการและควบคุมลูกน้อง ให้ความสำคัญกับผลงานมากกว่าคนในทีมโดยไม่ได้ให้คำแนะนำที่จะช่วยพัฒนาลูกน้องให้เก่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้ “ผู้นำ” จึงถือเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญกับองค์กรเป็นอย่างมาก เพราะผู้นำที่ดีหนึ่งคนสามารถสร้างผลกระทบให้กับผู้คนได้มากมาย และเมื่อพูดถึง “ภาวะความเป็นผู้นำ” ก็สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายระดับ ตามเกณฑ์ของความสามารถ และการได้รับความเคารพนับถือจากลูกน้อง ตามแนวคิดของ John C. Maxwell ได้แบ่งภาวะผู้นำออกเป็น 5 ระดับ (5 Levels of Leadership) ได้แก่

  1. Position Level (ผู้นำโดยตำแหน่ง) คือ ผู้นำที่ได้รับการแต่งตั้ง ลูกน้องเชื่อฟังคำสั่ง เพราะมีตำแหน่งเป็นผู้นำ
  2. Permission Level (ผู้นำโดยความสัมพันธ์) คือ ผู้นำที่คนชื่นชอบ ลูกน้องทำตามคำสั่ง เพราะสร้างความสัมพันธ์ภายในทีมได้ดี
  3. Production Level (ผู้นำโดยผลลัพธ์) คือ ผู้นำที่มีผลงานประสบความสำเร็จเป็นที่จับต้องได้ ลูกน้องยอมรับและเชื่อฟัง เพราะเชื่อมั่นในความสามารถของผู้นำ
  4. People Development Level (ผู้นำโดยการสร้างคน) คือ ผู้นำที่เน้นผลักดันศักยภาพและความสามารถของคนในทีมอย่างเต็มที่ ช่วยพัฒนาลูกน้องให้เติบโตจนเป็นผู้นำในอนาคตได้
  5. Pinnacle Level (ผู้นำโดยความเคารพนับถือ) คือ ผู้นำที่ได้รับความเคารพรักและศรัทธาจากลูกน้อง โดยเป็นที่ยอมรับทั้งจากความรู้ความสามารถ ผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ และการมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ผู้อื่น ผู้นำในระดับนี้จึงถือเป็นระดับสูงสุดของภาวะผู้นำ

แล้วตอนนี้คุณคิดว่าตัวเองเป็นผู้นำในระดับใด?

ถ้าพอจะประเมินตัวเองได้แล้วว่าตอนนี้เราอยู่ในเลเวลไหนจากภาวะผู้นำทั้ง 5 ระดับ ลองมาดูวิธีการอัพระดับภาวะผู้นำไปสู่เลเวลที่สูงขึ้นกันดีกว่า...

การพัฒนาจากระดับที่ 1 ไประดับที่ 2 (ผู้นำโดยความสัมพันธ์)

ควรเริ่มต้นจากการพัฒนาความฉลาดทางด้านอารมณ์ เปิดใจรับฟัง และทำความเข้าใจคนอื่นมากขึ้น เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในทีม

การพัฒนาจากระดับที่ 2 ไประดับที่ 3 (ผู้นำโดยผลลัพธ์)

ควรมีการสื่อสารวิสัยทัศน์ ทิศทางการทำงาน และมอบหมายงานอย่างชัดเจน รวมถึงควรพัฒนาทักษะเรื่องการบริหารงาน บริหารเวลา และบริหารคนให้มีประสิทธิภาพ

การพัฒนาจากระดับที่ 3 ไประดับที่ 4 (ผู้นำโดยการสร้างคน)

ควรเรียนรู้วิธีการให้คำปรึกษา (coaching) และพัฒนาคนในทีม โดยต้องเชื่อมั่นในตัวลูกน้องและกล้ามอบหมายงานที่ท้าทายมากขึ้นเพื่อดึงศักยภาพของเขาออกมาให้ได้มากที่สุด

การพัฒนาจากระดับที่ 4 ไประดับที่ 5 (ผู้นำโดยความเคารพนับถือ)

ในการก้าวสู่ขั้นสุดท้ายของการเป็นผู้นำที่ได้รับการยอมรับให้เป็นแบบอย่างของคนทั่วไป คุณต้องสามารถวางแผนภาพใหญ่ของงานได้อย่างครอบคลุม คอยติดตามผลงานและคนในทีม รวมถึงสังเกตความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ รอบตัวอยู่เสมอ ซึ่งหากทำเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ คุณก็จะได้รับการยอมรับนับถือจากลูกน้องในที่สุด

แม้ว่าใคร ๆ ก็สามารถเป็นผู้นำที่มีลูกน้องได้ แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถเป็นผู้นำที่ดีหรือผู้นำที่เป็น “ต้นแบบ” ให้คนอื่นได้จริง ๆ เพราะเมื่อลองพิจารณาองค์ประกอบของผู้นำอย่างลึกซึ้งแล้ว จะเห็นได้ว่าแบ่งออกเป็นหลายชั้นหลายระดับตามความสามารถและทักษะการสร้างความสัมพันธ์กับคนในทีม

หลายคนเป็นผู้นำที่ “เก่งงาน” แต่ไม่ “เก่งคน” ทำให้การนำทีมมีปัญหา ในขณะที่บางคนอาจ “เก่งคน” แต่ไม่ “เก่งงาน” ก็อาจทำให้ลูกน้องไม่มีความเชื่อมั่นเช่นกัน

การก้าวไปสู่การเป็น “ผู้นำต้นแบบ” ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนทั่วไปได้ จึงต้องอาศัยทั้งความเก่งในการทำงาน และความเก่งในการสร้างคน ให้ทีมรู้สึกว่าตัวเขาเองมีคุณค่าและศักยภาพ เช่นเดียวกับงานที่ทำ ซึ่งสุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านั้นก็จะสะท้อนกลับมาเป็นความเชื่อมั่นศรัทธาในตัวผู้นำที่เปรียบเสมือน Role Model ที่น่าเอาเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตนั่นเอง

_________________________

อ้างอิงจาก https://www.leaders.com/articles/leadership/5-levels-of-leadership/