career


NOMOPHOBIA ฉันขาดสมาร์ตโฟนไม่ได้!


เชื่อว่า ทุกวันนี้สมาร์ตโฟนได้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของใครหลาย ๆ คนกันไปแล้ว เพราะไม่ว่าจะทำอะไร แค่มีมือถือก็ทำได้หมด แต่รู้ไหมว่า การใช้สมาร์ตโฟนมากเกินไปทำให้เราตกอยู่ในภาวะ “โนโมโฟเบีย” (Nomophobia) ได้เช่นกัน

โนโมโฟเบีย (Nomophobia) คืออะไร?

โนโมโฟเบีย ย่อมาจาก "no-mobile-phone phobia" หมายถึง อาการกลัวที่จะขาดโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ตโฟน โดยผู้ที่มีอาการนี้จะคอยเช็กโทรศัพท์มือถือตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน แม้จะไม่มีเรื่องด่วนก็ตาม เพราะหากไม่ได้นำมาไว้ใกล้ตัวก็จะรู้สึกกังวลมาก ๆ จนไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งอื่นได้เลย

ยิ่งไปกว่านั้นอาการติดโทรศัพท์มือถือมาก ๆ ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและร่างกายได้ เช่น ทำให้สมาธิสั้น ตาล้า ปวดเมื่อยคอ เป็นต้น

อาการ Nomophobia เกิดจากอะไร?

เพราะ “สมาร์ตโฟนเป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว”

ไม่ว่าจะโทรติดต่อสื่อสาร จ่ายเงินโอนเงิน เสิร์ชหาข้อมูล อัปเดตข่าวสาร หรือใช้เพื่อการบันเทิงทั้งเล่นโซเชียล ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม เราสามารถทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ผ่านสมาร์ตโฟนได้ทั้งหมด

หากลองคิดดูคร่าว ๆ ในหนึ่งวันเราอาจใช้เวลาเล่นสมาร์ตโฟนมากถึง 6-8 ชั่วโมงเลยเชียวล่ะ! ซึ่งสาเหตุของอาการโนโมโฟเบีย (Nomophobia) ก็มาจากการที่เราปล่อยวางมือถือออกจากชีวิตไปไม่ได้แม้แต่วินาทีเดียว ไม่งั้นจะรู้สึกใจหาย กระวนกระวาย รู้สึกไม่คุ้นเคยที่ไม่มีมือถืออยู่ข้างตัว

ลองเช็กดูว่าเรากำลังเข้าข่าย Nomophobia รึเปล่า?

  • ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร ก็ต้องพกโทรศัพท์มือถือติดตัวตลอดเวลา
  • คอยเช็กการแจ้งเตือน ข้อความ และสายเรียกเข้าตลอด แม้จะขับรถ กินข้าว ดูทีวี หรือทำงานก็ตาม
  • เปิดสัญญาณอินเตอร์เน็ตให้เชื่อมกับโทรศัพท์มือถือตลอดเวลา
  • หากสัญญาณอินเตอร์เน็ตมีปัญหา ถึงแม้จะเป็นแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ จะรู้สึกตื่นตระหนกและกังวลใจ

วิธีหลีกเลี่ยงอาการ Nomophobia

เพราะเราไม่สามารถตัดขาดโทรศัพท์มือถือออกไปจากชีวิตได้ เราจึงต้องควบคุมการใช้สมาร์ตโฟนให้พอดี สมดุลกับชีวิตประจำวันของเรา

1. วางสมาร์ตโฟนลงบ้างก็ได้

ลองเริ่มต้นจากการจำกัดเวลาในการใช้มือถือ “ทีละเล็กละน้อย” ไม่ต้องถึงขั้นหักดิบ หรือนั่งจับเวลาว่าภายในหนึ่งชั่วโมงนี้จะไม่แตะโทรศัพท์มือถือเลย แต่ให้เริ่มจากวางโทรศัพท์มือถือลง ในขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้โทรศัพท์มือถือ เช่น ขณะกินข้าว อาบน้ำ เข้าห้องน้ำ ล้างจาน ดูทีวี เป็นต้น

2. พักเบรก ปิด WIFI สักพัก

ลองปิดสัญญาณอินเตอร์เน็ตในโทรศัพท์มือถือ ในขณะที่ทำกิจกรรมที่ไม่ควรมีสิ่งอื่นมารบกวน เช่น อ่านหนังสือ ดูหนัง งีบตอนบ่าย หรือนอนหลับในเวลากลางคืน เพื่อให้เราได้ใช้สมาธิจดจ่อไปกับกิจกรรมนั้นและช่วยให้เราได้พักผ่อนอย่างเต็มที่

แม้สมาร์ตโฟนจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตให้ง่ายขึ้น แต่การก้มหน้าเล่นแต่โทรศัพท์มือถือตลอดทั้งวัน ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก แต่หากเรารู้จักจำกัดเวลาการใช้อย่างเหมาะสม ก็จะทำให้เราใช้ประโยชน์จากสมาร์ตโฟนได้อย่างชาญฉลาดและคุ้มค่านั่นเอง!

_________________________

อ้างอิงจาก https://www.verywellmind.com/nomophobia-the-fear-of-being-without-your-phone-4781725