อะไร
จริง ๆ แล้วไลฟ์สไตล์ทั้ง 2 แบบที่แบ่งจากพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียอย่างต่างกันสุดขั้ว มีนิยามเฉพาะตัวแบบเท่ ๆ เช่นกัน อย่างถ้าเราชอบเช็คฟีด Social Media บ่อย ๆ เผลอเป็นต้องเช็คอิน อัพรูปให้โลกรู้ว่าทำอะไรอยู่ที่ไหน แสดงว่าเราเป็นชาว “FOMO” ที่รักในการตามเทรนด์ให้ชีวิตอัปเดตอยู่เสมอ
แต่ถ้าเรารู้สึกว่าการใช้ชีวิตเรียบง่าย สบายๆ ตามแนวของตัวเอง แบบไม่แคร์กระแสโซเชียลเท่าไหร่ เพราะอยู่แบบนี้ก็มีความสุขดีแล้ว แสดงว่าเราเข้าข่ายของการเป็นชาว “JOMO” เข้าแล้วล่ะ แล้วถ้าอยากรู้ให้ชัดว่าเราเป็น “FOMO” หรือ “JOMO” กันแน่ ลองตามไปอ่านกันเลย!
FOMO มาจากคำว่า “Fear of Missing Out” หมายถึง อาการกลัวที่จะตกกระแส กลัวพลาดข่าวสารที่กำลังเป็นประเด็นสำคัญในสื่อโซเชียล โดยปกติคนที่มีอาการ FOMO จะติดโทรศัพท์มือถือเพราะต้องคอยเช็คข่าวสารตลอดเวลา และชอบอัปเดตชีวิตตัวเองผ่านโซเชียลมีเดียอยู่เสมอ
แต่! การที่เราเป็นคนชอบตามติดเทรนด์ตลอดเวลาแบบ FOMO ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ดี เพราะพฤติกรรมแบบ FOMO นั้นก็มีข้อดีเช่นกัน
การที่เราเห็นไลฟ์สไตล์หลากหลายมิติของผู้คนผ่านโซเชียลมีเดีย อาจสร้างแรงบันดาลใจดี ๆ ให้เราอยากทำตาม เพื่อจะได้เป็นเหมือนแบบอย่างที่เราชื่นชม เช่น ถ้าเราอยากมีสุขภาพดี หุ่นฟิตเฟิร์ม การติดตามเหล่า Influencer ด้าน Fitness จะช่วยทำให้เรามีกำลังใจอยากหันมาออกกำลังกายมากขึ้น แถมยังได้เรียนรู้หลักการออกกำลังกายที่ถูกต้องผ่านหน้าฟีดโซเชียลมีเดียของพวกเขาได้ในทุก ๆ วัน
การเล่นโซเชียลมีเดียบ่อย ๆ อาจช่วยให้เราได้เปิดโลกทัศน์ในแบบที่ไม่เคยได้รู้จักมาก่อน ได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ ทางอ้อม ได้เห็นไลฟ์สไตล์ของผู้คนมากหน้าหลายตา รวมถึงมีมุมมองต่อชีวิตและความสนใจที่กว้างขึ้น ซึ่งจะช่วยจุดประกายให้อยากลองทำอะไรใหม่ ๆ ตามกระแส จะได้ไปคุยกับคนอื่นรู้เรื่อง!
อย่างเช่น เราอาจไม่เคยสนใจเล่นกีฬาเท่าไหร่ แต่! พอมีกระแส Surf Skate ขึ้นมาก็ทำให้เราอยากลองเล่นดูเพราะไม่อยากตกกระแส บางทีการได้ทำกิจกรรมใหม่ ๆ ก็ช่วยทำให้เราค้นพบสิ่งที่ชอบ และนำไปสู่การเข้าสังคมใหม่ ถือเป็นแรงผลักดันให้เราก้าวข้ามผ่าน Comfort Zone ไปเจอศักยภาพใหม่ในตัวเองเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก
เมื่อเข้าใจอาการ FOMO กันแล้ว ตอนนี้ลองไปทำความรู้จักกับอาการ JOMO กันบ้างดีกว่า…
JOMO มาจากคำว่า “Joy of Missing Out” หมายถึง การมีความสุขโดยที่ไม่ต้องใช้ชีวิตเกาะติดกระแสสังคม โดยปกติคนที่มีอาการ JOMO จะไม่ค่อยเล่นโซเชียลมีเดีย แต่ใช้เวลาไปกับกิจกรรมรอบตัว เช่น การออกไปเที่ยว อ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ เป็นต้น
การถอยห่างจากโซเชียลมีเดีย จะทำให้เรามีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น บางคนอาจใช้เวลาไปกับงานอดิเรกต่าง ๆ หรือมุ่งมั่นทำตามเป้าหมายชีวิตที่เคยตั้งไว้ ขณะที่หลายคนอาจใช้เวลาไปกับกิจกรรมภายในครอบครัวมากขึ้น เช่น ทำอาหาร หรือเล่นบอร์ดเกม ซึ่งจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในบ้าน แทนที่ต่างคนจะก้มหน้ามองแต่หน้าจอโทรศัพท์มือถือ
เมื่อไม่ต้องมาคอยพะวงกับเสียงแจ้งเตือนฟีดข่าวใหม่ ๆ เราก็จะมีสมาธิและเพลิดเพลินไปกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ เช่น อ่านหนังสือ เล่นดนตรี ดูหนัง หรือแม้แต่การนอนที่จะไม่มีสิ่งใดมารบกวน ซึ่งช่วยให้เราพักผ่อนได้อย่างเต็มอิ่ม มีประสิทธิภาพสุด ๆ
สุดท้ายไม่ว่าเราจะเป็นชาว FOMO หรือ JOMO ก็ตาม ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตทั้งสองอย่างนี้ต่างก็มีมุมที่ดีในแบบของตัวเอง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นสายตามเทรนด์หรือไม่ตามเทรนด์ ขอแค่รู้จักใช้ชีวิตให้พอดี ไม่สุดโต่งจนเกินไปก็มีความสุขในแบบของตัวเองได้แล้ว
_________________________
อ้างอิงจาก https://lifehacker.com/why-fear-of-missing-out-is-a-good-thing-1754928117
https://whateveryourdose.com/swap-fomo-for-jomo-the-joy-of-missing-out/